ติดตามแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลก 2565

ขณะนี้ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้าถ่านหินรวมกันมากกว่า 2,400 แห่งซึ่งกำลังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอยู่ใน 79 ประเทศ กำลังการผลิตรวมราว 2,100 กิกะวัตต์ (GW) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างมากกว่า 189 แห่ง กำลังการผลิตรวมราว 176 กิกะวัตต์  และยังมีแผนที่จะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิต 280 กิกะวัตต์อีก 296 แห่ง ทั้งนี้ จากการศึกษาของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า แนวทางในการต่อสู้เพื่อชะลอวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีความชัดเจนอยู่แล้ว นั่นคือการยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ และจัดการปลดระวางาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้งานอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายภายในปี 2573 รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งอื่นๆ ที่เหลือ อยู่ทั่วโลกโดยเร็วที่สุด

ในปี 2564 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมถ่านหินดิ่งลงต่อเนื่องราวโดมิโน COP 26 ซึ่งเป็นการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้บรรลุข้อตกลงที่เมืองกลาวโกลว์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ซึ่ง ผลจากของการประชุมสุดยอดว่าด้วยประเด็นถ่านหินไม่ได้รวมระยะเวลาหรือฉันทามติใด ๆ ในการยกเลิกการใช้ถ่านหินทั้งหมดเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากมีการดำเนินการอย่างเต็มที่ ตามพันธสัญญาที่ทำขึ้นในช่วงเวลาก่อนการประชุมสุดยอดและระหว่างการประชุมสุดยอด นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของความพยายามระดับโลกในการเลิกใช้ถ่านหินและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสากรรมพลังงาน จะทำให้จำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะมีการปลดระวางในระยะเวลาอันใกล้นี้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า หรือราว750 แห่ง (กำลังการผลิตราว 550 กิกะวัตต์) และจะยังมีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเพียง 170 แห่ง (กำลังการผลิตราว 89 กิกะวัตต์) หรือร้อยละ 5 ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการเดินเครื่องอยู่ในปัจจุบันที่จะยังไม่มีการกำหนดวันปลดระวางหรือกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน กระนั้นก็ตาม โรงไฟฟ้าถ่านหินเหล่านี้บางส่วนก็มีกำหนดที่จะยุติการเดินเครื่องตามระยะเวลาที่กำหนด ภายใต้ความตกลงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  (Paris Agreement) 

แม้จะมีความคืบหน้าในการประชุมสุดยอด COP26 ทว่าความมุ่งมั่นที่จะยุติการพึ่งพาถ่านหินกลับยังไม่มีปรากฎให้เห็นแต่อย่างใด ในปี 2564 ที่ผ่านมา บรรดาโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินที่กำลังเดินเครื่องอยู่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นราว18.2 กิกะวัตต์ นับเป็นการฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 ในรอบปี ที่ได้เห็นอัตราการปลดประจำการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชะลอตัวลง โดยจีนยังคงเป็นข้อยกเว้นที่เห็นได้ชัดเจนต่อการลดลงของการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่บรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายควรยื่นมือช่วยเหลือประเทศที่เหลือบนโลกใบนี้ให้ยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ และเริ่มการเปลี่ยนผ่านเพื่อเลิกพึ่งพาถ่านหินอย่างกระตือรือร้น แต่กลับยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังวางแผนเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศของตนเองแทน ห่างไกลเกินกว่ากำหนดเส้นตายที่ทางทีมผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศเรียกร้อง และติดกับมายาคติ เทคโนโลยี “ถ่านหินสะอาด” นอกจากนี้ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น ร้อยละ9 ในปี 2564 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซ้ำยังมากกว่าปริมาณที่ฟื้นตัวหลังจากที่ลดลงไปร้อยละ 4 ในปี 2563 ก่อนหน้า ช่วงไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเป็นครั้งแรก

ในปี2564 ทั้งกำลังการผลิตถ่านหินทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น กับการเพิ่มขึ้นของการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าข้อตกลงกลาสโกว์เพื่อยุติการพึ่งพาถ่านหิน มีความสำคัญมากเพียงใด และต้องมี “ผู้เล่นหลัก” จำนวนเท่าใดที่ต้องลงมือดำเนินการ