ข้อสังเกตประเด็นปัญหาทางวิชาการและแนวทางการปรับปรุงในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดิน คำขอประทานบัตรที่ ๑/๒๕๔๓ ของบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นกระบวนการที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้กฎหมาย National Environmental Policy Act (NEPA) ของสหรัฐอเมริกาในปี 1970 ในปัจจุบัน EIA ถูกใช้มากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดย EIA ถือเป็นนวัตกรรมทางนโยบายแห่งศตวรรษที่ 20 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในหลาย ๆ ประเทศในการสงวนรักษา ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (IAIA 2018) โดยอ้างอิง International Association of Impact Assessment (IAIA)

อย่างไรก็ดี สำหรับชุมชนกะเบอดิน EIA ของโครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดินดูจะไม่ตอบวัตถุประสงค์ข้างต้นตามหลัก EIA สากล และยิ่งไม่ตอบข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบจากมลพิษจากโครงการเหมืองถ่านหินต่อสุขภาพ การประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของชุมชน ยกตัวอย่างเช่น

  • ความกังวลเรื่องการขาดแคลนน้ำผิวดิน ด้วยสายแร่ถ่านหินที่พาดผ่านบริเวณห้วยผาขาวและห้วยมะขามทำให้โครงการวางแผนเบี่ยงทางน้ำอันอาจนำมาสู่การขาดแคลนน้ำในบริเวณที่ใช้ทำการเกษตรในปัจจุบันได้ ด้วยน้ำสำคัญต่อการผลิต (Productivity) พืชผลทางการเกษตร อันเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน อย่าง มะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี และพริก เป็นอย่างมาก
  • ความกังวลต่อมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นจากการทำโครงการเหมืองถ่านหิน การขนส่งถ่านหิน รวมทั้งฝุ่น และมลพิษอากาศที่อาจเกิดจากการเผาไหม้ตัวเองของถ่านหิน
  • ความกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารอันตราย เช่น โลหะหนักในน้ำผิวดิน อย่างเช่นกรณีคลิตี้

ชุมชนจึงคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินและไม่ยอมรับกระบวนการทำ EIA เพราะเกรงว่าโครงการเหมืองถ่านหินจะเปลี่ยนวิถีชีวิต จะกระทบกับการเกษตร จะสร้างมลพิษทางอากาศและน้ำ (อย่างกรณีคลิตี้) และจะทำให้ชุมชนต้องย้ายบ้านหนีโครงการเหมืองถ่านหิน ทั้งนี้ชุมชนได้ดำเนินการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง

การที่ EIA ของโครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดินไม่สามารถตอบประเด็นความกังวลของชุมชนได้ และไม่ตอบวัตถุประสงค์ของ EIA ตามหลักสากลก็อาจเนื่องมาจากการที่วัตถุประสงค์หลักของ EIA ดังกล่าว คือการจัดทำเพื่อประกอบการขอประทานบัตรตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อสงวนรักษาผลิตภาพ (Productivity) สมรรถนะ (Capacity) และกระบวนการ (Process) ของระบบธรรมชาติ  และสังคมที่สนับสนุนการดำรงชีวิต หรือเพื่อการคาดการณ์ หลีกเลี่ยง ลด หรือชดเชยผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดิน