การวิเคราะห์ “Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของไทย พ.ศ. 2561-2573” โดยกรีนพีซ ประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากการบริหารนโยบายสาธารณะของรัฐ (publicity governance) และกระบวนการมีส่วนร่วมทางนโยบายของพลเมืองไทย (society and policy pathway consciousness) Roadmap การจัดการขยะพลาสติกนี้ยังขาดความมุ่งมั่นและไร้ทิศทางเพื่อต่อกรกับวิกฤตมลพิษพลาสติก และที่สำคัญ ยังสวนทางกับแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก พ.ศ. 2564-2573 และเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) พ.ศ.2608-2613

เป้าหมายการปฏิบัติการของ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก คือ เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (cap seal) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมของสารออกโซ(oxo) และไมโครบีด (microbead) ภายในปี 2562 และเลิกใช้ถุงหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติกภายในปี 2565 ขณะเดียวกัน นำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 และนำไปกำจัดด้วยการเผาเป็นพลังงาน

ข้อค้นพบหลักจากการวิเคราะห์ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกโดยกรีนพีซ ประเทศไทย มีดังนี้ 

  • Roadmap การจัดการขยะพลาสติกเป็นเพียงการสร้างสัญลักษณ์ (Rhetorical Symbols) ในทางสากลว่าประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงระดับภูมิภาคต่าง ๆ เช่น Bangkok Declaration on Combating Marine Debris และ SDG12 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน รวมถึง SDG14 ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน แต่ขาดรูปธรรมและความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนนโยบาย สู่การปฏิบัติการภายในประเทศ
  • ผลที่คาดว่าจะได้รับใน Roadmap ระบุว่า จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ 0.78 ล้านตันต่อปี และเมื่อนำขยะพลาสติกไปเผาจะผลิตไฟฟ้าได้ 1,830 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยที่ไม่กล่าวถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาขยะพลาสติก ข้อเท็จจริงคือ การเผาขยะพลาสติก 1 ตัน จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,890 กิโลกรัม CO2 เทียบเท่า ดังนั้น หากนำขยะพลาสติก 0.78 ล้านตันไปเผา จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.26 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า หรือประมาณร้อยละ 11 ของการประมาณการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการจัดการของเสีย ซึ่งสวนทางกับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
  • ขาดรูปธรรม ไม่มีรายละเอียดสนับสนุนการขับเคลื่อนและหน่วยงานรับผิดชอบกำกับดูแลนโยบาย รวมถึงผู้ผลิตสินค้าว่าต้องดำเนินการหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (extended producer responsibility : EPR) การส่งเสริมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green consumption) และหลักการ Responsible Production ในที่ระบุไว้ใน Roadmap การจัดการขยะพลาสติกอย่างไร
  • ขาดการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ส่วนการกำหนดมาตรการลดหย่อนทางภาษี และการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจะเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
  • ข้อมูลที่ระบุใน Roadmap การจัดการขยะพลาสติกไม่สะท้อนภาพรวมของทั้งประเทศ และ สถานการณ์และความรุนแรงของปัญหาในระดับพื้นที่ ถึงแม้ว่า กรมควบคุมมลพิษร่วมกับ สถาบันพลาสติกจะดำเนินการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูล Material Flow of Plastic ของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลปี 2561 และ 2562 ศึกษาวงจรพลาสติกผลิตภัณฑ์เป้าหมาย แต่ไม่ระบุชัดเจนว่าวัสดุและขยะพลาสติกของแต่ละภาคส่วน และแต่ละพื้นที่มีขนาดของปัญหามากน้อยเพียงใด