บทคัดย่อ

รายงานฉบับนี้ เปิดเผย มูลค่าความเสียหายของมลพิษทางอากาศจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและหยิบยกแนวทางแก้ไขที่สามารถปกป้องสุขภาพ และยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชนของเรา โดยรายงานแสดงให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกราว 4.5 ล้านคนต่อปี มลพิษทางอากาศยังทำให้โรคเจ็บป่วยเรื้อรังและโรคเจ็บป่วยฉับพลันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนหลายล้านคนต้องเข้าโรงพยาบาล และต้องขาดงานเพราะลาป่วยหลายพันล้านวันต่อปี รวมถึงยังสร้างความเสียหายต่อทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม 

เป็นครั้งแรกที่ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (CREA) คำนวณมูลค่าความเสียหายทั่วโลกของมลพิษทางอากาศจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยพบว่า มูลค่าความเสียหายดังกล่าวพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 3.3% ของจีดีพีโลก และตราบใดที่ ถ่านหิน น้ำมัน และบริษัทรถยนต์ยังคงผลักดันการใช้เทคโนโลยีเก่าล้าสมัย เราก็ยังคงต้องจ่ายค่าความเสียหายเป็นสุขภาพของผู้คนและชุมชน

มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของมลพิษทางอากาศสะท้อนให้เห็นระดับความเข้มข้นของมลพิษ ขนาดประชากร และความพร้อมกับต้นทุนด้านการสาธารณสุข รายงานระบุว่าจีนแผ่นดินใหญ่ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ต้องแบกรับมูลค่าความเสียหายจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลกตามลำดับ โดยจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ที่ราว 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และอินเดียที่ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี 

เราประมาณการณ์ว่าการได้รับ PM2.5 และโอโซน จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องเข้ารับการรักษาอาการหอบหืดที่ห้องฉุกเฉินราว 7.7 ล้านครั้งต่อปี เฉพาะการได้รับฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้เกิดการขาดงานเนื่องจากความเจ็บป่วยทั่วโลกมากราว 1,800 ล้านวันต่อปี 

มลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศรายได้ต่ำ ซึ่งรายงานพบว่า มีเด็กราว 40,000 คนทั่วโลกเสียชีวิตก่อนครบรอบวันเกิดวัย 5 ขวบ เพราะรับฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในขณะเดียวกัน ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ยังเป็นสาเหตุของภาวะคลอดก่อนกำหนดราว 2 ล้านคนต่อปี

Coal Power Plants in Suralaya, Indonesia. © Kasan Kurdi / Greenpeace
ภาพโรงไฟฟ้าถ่านหิน Suralaya ในเมืองซีเลกอน จังหวัดบันเต็น ประเทศอินโดนีเซีย © Kasan Kurdi / Greenpeace

ในขณะที่มลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามระดับโลกอยู่ ณ ขณะนี้ แต่เราก็มีทางออกที่เพิ่มขึ้นมากมายและอยู่ในราคาเอื้อมถึงได้ นอกจากนี้ สารพัดทางออกจากวิกฤตมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นยังเป็นทางออกของวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วย ระบบการขนส่งที่สะอาดและระบบพลังงานหมุนเวียน ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณมลพิษ อย่าง PM2.5, ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และ โอโซน ได้อย่างมีนัยยะสำคัญเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

การลด ละ เลิกโครงการและโครงสร้างพื้นฐานของการใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ไม่เพียงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมหาศาล เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวมีส่วนในการลดมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้ การศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะเอื้อประโยชน์ต่อสุขภาพโดยมีมูลค่ามากกว่าที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้หามาได้  โดยผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในรายงานการประชุมของ National Academy of Sciences (สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ) พบว่า การยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ขยายวงกว้างมากขึ้น และการลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียน เป็นตัวการสำคัญที่ช่วยลดอัตราการตายก่อนวัยอันควร ซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศทั่วโลกมากถึง 2 ใน 3

นอกจากนี้ การเปลี่ยนไปใช้ระบบขนส่งที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือมีการปล่อยคาร์บอนเท่ากับศูนย์ ในราคาที่เข้าถึงได้ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะรับประกันสุขภาวะที่ดีของเมือง ระบบการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับทางเดินเท้าที่ดี และระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เอื้อต่อการปั่นจักยาน จะช่วยลดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดลงของอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน มะเร็ง โรคอ้วน เบาหวาน อาการป่วยทางจิต และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ


หนึ่งในวิธีทางสำคัญที่รัฐบาลนานาประเทศสามารถนำมาใช้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดระบบการขนส่งอย่างยั่งยืนก็คือการกำหนดวันสิ้นสุดการใช้รถยนต์น้ำมันเบนซิล ดีเซล และก๊าซ ควบคู่ไปกับการนำเสนอระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่ายมาใช้งาน พร้อมกับทางเดินเท้าที่ปลอดภัย และโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการปั่นจักรยาน เราจำเป็นต้องหลีกหนีจากการพึ่งพารถยนต์ส่วนบุคคลในฐานะทางเลือกแรกสุดในการเดินทาง และริเริ่มโครงการอย่าง วันปลอดรถ เพื่อทำให้เราสามารถมองเห็นภาพของเมืองในแบบที่จะเป็นหากปราศจากรถยนต์และมลพิษทางอากาศ 

สภาพการจราจรที่ติดขัดบริเวณถนนรัชดา-สุทธิสารในวันที่กรุงเทพมหานครมีฝุ่นละอองคล้ายหมอกควันปกคลุมในหลายพื้นที่ © Chanklang Kanthong / Greenpeace

การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในแง่ของการหลีกเลี่ยงหายนะของวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการป้องกันสุขภาพร่างกายของเราเอง ขณะเดียวกัน บรรดาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงเดินหน้าทำการตลาดด้วยเทคโนโลยีที่ล้าสมัย ชุมชนของเรากลับต้องจ่ายราคาค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ทางออกคือการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just transition) ไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพียงแต่เราไม่อาจผัดวันประกันพรุ่งได้อีกต่อไป

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม