กรุงเทพฯ, 29 ตุลาคม 2562– กรีนพีซประเทศไทยเปิดเผยรายงานการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก(Brand Audit) ที่เก็บได้จากบริเวณดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และแหลมสนอ่อน จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา[1] ระบุผู้ผลิตแบรนด์ในประเทศ 5 อันดับแรกที่พบจำนวนขยะพลาสติกมากที่สุด ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โอสถสภา กลุ่มธุรกิจTCP เสริมสุข และสิงห์คอร์เปอเรชั่น ในขณะที่โคคา-โคล่า เนสท์เล่ อายิโนะโมะโต๊ะ มอนเดลีช และยูนิลิเวอร์ คือผู้ผลิตแบรนด์ข้ามชาติ 5 อันดับแรก ที่พบจำนวนขยะพลาสติกมากที่สุด

การตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ร่วมกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนทั่วโลกในนาม Break Free From Plastic [2] ที่เกิดขึ้น 484 พื้นที่ใน 51 ประเทศทั่วโลก เพื่อนำขยะพลาสติกมาตรวจสอบแบรนด์สินค้าที่พึ่งพาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง โคคา-โคล่า เนสท์เล่ และเป๊ปซี่โค เป็นแบรนด์ข้ามชาติ 3 อันดับแรกที่เจอมากที่สุดในการตรวจสอบแบรนด์จากหลายร้อยพื้นที่ทั่วโลกโดยเป็นปีที่สองแล้วที่แบรนด์ดังกล่าวยังคงติดอันดับขยะพลาสติกที่พบมากที่สุดในสิ่งแวดล้อม

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซประเทศไทย กล่าวว่า “เรามีหลักฐานมากขึ้นจากผลการตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติกว่าบริษัทผู้ผลิตสินค้าจำเป็นต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วนเพื่อกู้วิกฤตมลพิษพลาสติกที่ตนก่อขึ้น การที่บริษัทต่างๆ ยังพึ่งพาบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งก็หมายถึงปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นในสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิลยังคงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตสินค้าต้องหยุดการผลิตพลาสติกใช้แล้วทิ้งและหาทางออกที่สร้างสรรค์ซึ่งเน้นระบบทางเลือกในการจัดส่งและกระจายสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ”

กิจกรรมตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติกในไทย จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่และสงขลาในเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมาโดยมีอาสาสมัครและชุมชน เข้าร่วมกว่า 115 คน เก็บรวบรวมขยะพลาสติกได้ทั้งหมด 6,091 ชิ้น โดยเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหาร 5,485 ชิ้น  อุปกรณ์สำหรับการสูบบุหรี่ 231 ชิ้น ส่วนประเภทวัสดุที่พบตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ พลาสติกอื่นๆ [3] 2,729 ชิ้น รองลงมาคือโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) 1,016 ชิ้น และ โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) 986 ชิ้น  

อภิศักดิ์ ทัศนี ตัวแทนกลุ่ม Beach for Life ที่เข้าร่วมตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกที่จังหวัดสงขลา กล่าวว่า “กระแสหลักของสังคมส่งผลให้ขยะพลาสติกเป็นเรื่อง ”ขยะ” โดยที่ผู้บริโภคและคนในชุมชนต้องรับผิดชอบ แท้ที่จริง ขยะพลาสติกคือเรื่อง “มลพิษ” ที่เกี่ยวข้องกับการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกด้วย เราหวังว่าการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ผลิตมีภาระรับผิดต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมจากมลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งของตน”

กรีนพีซเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้า Fast Moving Consumer Goods (FMCG) ลดการพึ่งพาบรรจุภัณฑ์พลาสติก และให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับแนวทางปฏิบัติ 4 ประการดังต่อไปนี้ [4]

  • เปิดเผยข้อมูล “รอยเท้าพลาสติก(plastic footprint)” ซึ่งหมายถึงปริมาณพลาสติกที่บริษัทใช้ในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการขนส่งภายในช่วงเวลา 12 เดือนที่มีการระบุไว้ โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้
  • มุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละปี
  • ขจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาและไม่จำเป็นมากที่สุดภายปี 2562
  • ลงทุนกับระบบนำกลับมาใช้ซ้ำและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่

ในวาระที่ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2562 นี้ กรีนพีซเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทบทวนกรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเลที่เห็นชอบร่วมกันในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา[5] ซึ่งนอกจากไม่ได้เน้นถึงสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของมลพิษพลาสติกโดยการลดการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้ว ยังล้มเหลวในการพิจารณาปัญหาการนำเข้าขยะและการค้าของเสียอีกด้วย

หมายเหตุ

[1] รายงานผลการตรวจสอบแบรนด์(Brand Audit)จากขยะพลาสติกในประเทศไทย ปี 2562 สามารถดูได้ที่ https://act.gp/THBrandAudit2019

[2] รายงานผลการตรวจสอบแบรนด์(Brand Audit)จากขยะพลาสติกทั่วโลก ปี 2562 สามารถดูได้ที่ https://www.breakfreefromplastic.org/globalbrandauditreport2019/

[3] พลาสติกอื่นๆ (Other) หรือพลาสติกหมายเลข 7 หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น(Multi Layer) หรือมีส่วนผสมของพลาสติกมากกว่า 1 ชนิด เช่น ไนลอน, ไฟเบอร์กลาส, ไบโอพลาสติก

[4] สามารถดูรายละเอียดข้อเรียกร้องในรายงานผลการตรวจสอบแบรนด์(Brand Audit)จากขยะพลาสติกในประเทศไทย ปี 2562 ที่ https://act.gp/THBrandAudit2019

[5] https://www.asean2019.go.th/en/news/asean-framework-of-action-on-marine-debris/

สามารถดาวน์โหลดภาพถ่ายกิจกรรม Brand Audit ในจังหวัดสงขลาได้ที่ https://act.gp/BrandAuditSongkhla2019

และเชียงใหม่ที่ https://act.gp/BrandAuditChiangMai2019

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม