กรุงเทพฯ, 16 ตุลาคม 2562 – เนื่องในวันอาหารโลกหรือ World Food Day กรีนพีซร่วมกับ Documentary Club ฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Eating Animals เปิดเผยเบื้องหลังอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่มุ่งผลิตเนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยไม่คำนึงถึงวิธีการหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น

ภาพยนตร์ดังกล่าวสะท้อนถึงผลกระทบจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงผืนป่าให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์และเลี้ยงสัตว์มหาศาล การก่อหมอกควันพิษ และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง รวมถึงวิกฤตเชื้อดื้อยา

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซประเทศไทย กล่าวว่า “การผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมได้เข้ามาแทนที่การเลี้ยงสัตว์โดยเกษตรกรรายย่อย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มากขึ้น ระบบอาหารนี้ตัดขาดผู้บริโภคและการรับรู้ที่มาของอาหาร จึงจำเป็นที่จะต้องมีการออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อุตสาหกรรมด้วยข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ ข้อมูลทั้งหมดนี้จะเชื่อมโยงผู้บริโภคกับที่มาของอาหารอีกครั้ง และจะเป็นนโยบายด้านความโปร่งใสที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมสามารถร่วมมือกันได้ อีกทั้งยังเป็นสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลและเลือกบริโภคสิ่งที่ดีต่อสุขภาพของตนและสิ่งแวดล้อม”

หลังการรับชมภาพยนตร์ กรีนพีซได้จัดเสวนาในหัวข้อ “What’s in our meat? มีอะไรในเนื้อสัตว์ที่เรากิน” เพื่อสร้างความเชื่อมโยงให้แก่ผู้บริโภคถึงที่มาของเนื้อสัตว์ และการเลือกรับประทานอาหารของเรา

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการกินเนื้อสัตว์ว่า “สิ่งที่น่ากังวลคือการใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ ในการเลี้ยงสัตว์ของระบบผลิตอาหารที่หากใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้องหรือใช้เกินความจำเป็นจะเร่งให้เกิดการดื้อยาต้านแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น และหากจัดการอย่างไม่เหมาะสมจะมีการตกค้างในเนื้อสัตว์ ทั้งในเรื่องการตกค้างของยาปฏิชีวนะ เชื้อแบคทีเรียดื้อยาหรือยีนส์เชื้อดื้อยา เหล่านี้มีส่วนเกิดผลกระทบต่อสุขภาวะของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เป็นวิกฤตร่วมของประเทศและของโลก เพราะเชื้อแบคทีเรียสามารถแพร่กระจายระหว่างคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม การที่ประเทศมีแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 สามารถช่วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ได้ภายใต้ สุขภาพหนึ่งเดียว คน สัตว์ สิ่งแวดล้อม”

คุณอำนาจ เรียนสร้อย เกษตรกรเลี้ยงไก่เชิงนิเวศ เจ้าของแทนคุณออร์แกนิค กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องให้ความสำคัญคือ อาหารหรือวัตถุดิบที่เราบริโภคนั้น สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาหรือแหล่งที่ผลิตได้ไหม เรารู้ข้อมูลผู้ผลิตมากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งที่ดีที่จะมีการเผยข้อมูลชี้ชัดกระบวนการผลิต และที่ดีกว่านั้นคือ เปิดเผยว่าใครเป็นผู้ผลิต ซึ่งสิ่งที่เป็นเครื่องการันตีให้กับผู้บริโภคได้ดีที่สุดไม่ใช่ตรารับรอง แต่เป็นการรู้จักกับเกษตรกรและฟาร์มที่ผลิต ผู้บริโภคสามารถทำความรู้จักและเป็นเพื่อนกับเกษตรกรได้ รวมถึงมีสิทธิเข้าเยี่ยมชมแหล่งผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ก็ควรระบุข้อมูลการเลี้ยงและที่มาอย่างชัดเจนบนบนฉลากก่อนถึงมือผู้บริโภค”

ภาพยนตร์ Eating Animals เปิดให้ชมอีกรอบโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันที่ 19 ตุลาคม 2562 เวลา 19.00 น. ณ โรงภาพยนตร์ลิโด้ สามารถสำรองที่นั่งได้ที่ https://forms.gle/Dwdr9CbJSzERazU98

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทตั้งแต่การเลี้ยง อาหารที่ให้ และจำนวนการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อปกป้องสุขภาพของเราได้ที่ https://act.gp/2FqV82F

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พรรณนภา พานิชเจริญ ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซประเทศไทย
โทร 095-5853471 อีเมล [email protected]