ฮ่องกง, 29 ตุลาคม 2561 – การวิเคราะห์ใหม่โดยใช้ข้อมูลดาวเทียมดวงใหม่ล่าสุดที่มีเก็บบันทึกข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มิถุนายนถึง 31 สิงหาคม 2561นี้เปิดเผยถึงแหล่งกำเนิดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกใน 6 ทวีป ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการเผาไหม้ถ่านหินและการคมนาคมขนส่งคือแหล่งกำเนิดหลักของการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายและยังส่วนสำคัญของการก่อตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) และก๊าซโอโซน เฉพาะในสหภาพยุโรป การจัดการมลพิษก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ให้หมดไปจะช่วยชีวิตผู้คนได้ถึง 75,000 คนต่อปี (1)

จากแหล่งกำเนิดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ทั้ง 6 ทวีป ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงขอบเขตระดับโลกและวิกฤตมลพิษที่ข้ามพรมแดน รัฐบาลต่างๆ ต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วนเพื่อให้อากาศที่ดีสำหรับทุกคนกลับมาคืนมา

“มลพิษทางอากาศคือวิกฤตด้านสาธารณะสุขในระดับโลก มีประชากรถึงร้อยละ 95 ของโลกหายใจเอาอากาศที่ไม่ปลอดภัยเข้าไป การวิเคราะห์ใหม่ล่าสุดที่เน้นถึงแหล่งกำเนิดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ทั่วทั้ง 6 ทวีป ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เมือง แหล่งอุตสาหกรรมและเขตเกษตรกรรมนี้ทำให้เราเห็นชัดเจนมากขึ้นถึงภาพปัญหามลพิษทางอากาศจากก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ว่าใหญ่โตมากน้อยเพียงใด” ลอรี มิลลิเวียทา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศของกรีนพีซกล่าว

“เช่นเดียวกับที่เราไม่สามารถหลบหนีจากอากาศสกปรกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเรา ผู้ก่อมลพิษก็ไม่อาจหาที่หลบซ่อนการปล่อยมลพิษเช่นกัน ดาวเทียมดวงใหม่นี้เป็นเสมือน “ดวงตาบนท้องฟ้า” ของเรา โดยที่ตัวการสำคัญอย่างอุตสาหกรรมเผาไหม้ถ่านหินและระบบคมนาคมขนส่งที่พึ่งพาน้ำมัน ไม่อาจ���ลีกหนีความรับผิดชอบได้ รัฐบาลผู้กำหนดนโยบายจะต้องลงมือทำด้วยมาตรการและเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อทำให้อากาศสะอาดและช่วยชีวิตผู้คน”

แหล่งกำเนิดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มิถุนายนถึง 31 สิงหาคม 2561 นี้ รวมถึงกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินที่รู้จักกันดีในแอฟริกาใต้ เยอรมนีและอินเดีย ตลอดจนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในจีน ส่วนพื้นที่เมืองที่มีความโดดเด่นในฐานะเป็นแหล่งที่มีการปนเปื้อนมลพิษทางอากาศจากก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในจำนวนแหล่งกำเนิด 50 อันดับต้นคือ ซานดิเอโก(ชิลี) ลอนดอน ดูไบและเตหะราน ซึ่งมาจากภาคการคมนาคมขนส่ง

แหล่งกำเนิดที่ใหญ่ที่สุดของการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในช่วง 3 เดือนที่มีการเก็บข้อมูลจากดาวเทียมคือ ปูมาลังกา(Mpumalanga)ในแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินนับสิบโรงที่มีกำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 32 กิกะวัตต์ บริษัทเอสคอม(Eskom) เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวนี้

ในยุโรป แหล่งกำเนิดที่ใหญ่ที่สุดของการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์อยู่ที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน Niederaussem รองลงมาคือ การปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์จากการคมนาคมในกรุงลอนดอน

การวิเคราะห์แหล่งกำเนิดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์นี้ใช้ข้อมูลล่าสุดที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้จากดาวเทียม Sentinel 5P ขององค์การอวกาศแห่งยุโรป(the European Space Agency) ที่บันทึกระหว่างวันที่ 1 มิถุนายนถึง 31 สิงหาคม 2561(2) กรีนพีซถือเป็นองค์กรแรกที่ทำการประมวลผลข้อมูลของความเข้มข้นเฉลี่ยของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในรูปแบบของแผนที่ และใช้ข้อมูลทำเนียบการปล่อยจาก EDGAR ในปี 2555 มาซ้อนทับเพื่อระบุแหล่งกำเนิดหลักของการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในแต่ละพื้นที่ ระเบียบวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลและการประมวลผลดูเพิ่มเติมได้จากรายงานสรุป

มีทางออกที่ชัดเจนต่อวิกฤตมลพิษทางอากาศในระดับโลก ที่สำคัญที่สุดคือการที่ถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์อันดับต้น รัฐบาลทั้งหลายต้องลด ละ เลิกการพึ่งพาถ่านหินและมุ่งสู่เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ส่วนเมืองและภูมิภาคต่างๆ ที่แหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่คือการคมนาคมขนส่ง แผนการที่ครอบคลุมเพื่อลดการพึ่งพายานยนต์ที่เป็นแบบการสันดาปภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องยนต์ดีเซล และมุ่งสนับสนุนให้มีระบบคมนาคมสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้าจะช่วยให้อากาศดีกลับคืนมาสู่ประชากรที่อยู่อาศัยในเมือง

Notes:

[1] https://www.eea.europa.eu/highlights/improving-air-quality-in-european/premature-deaths-2014

[2] https://earth.esa.int/web/guest/missions/esa-eo-missions/sentinel-5p

[3] http://edgar.jrc.ec.europa.eu/overview.php?v=432_AP

รายงานสรุปสำหรับสื่อมวลชน ดาวน์โหลดที่นี่

แผนที่แสดงแหล่งกำเนิดของการปล่อยก๊าซไนโตรเจนทั่วโลกดูได้ที่นี่

Contacts:

Lauri Myllyvirta, Greenpeace Global Air Pollution Unit, Senior Analyst, lead author
[email protected]
+358 50 3625 981
Greenpeace International Press Desk, [email protected], phone: +31 (0) 20 718 2470 (available 24 hours)

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม