จาร์กาตา, อินโดนีเซีย- การวิเคราะห์ล่าสุดของกรีนพีซ อินโดนีเซียเผยว่าในช่วงเวลาเดียวกัน อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษส่วนใหญ่ก็รอดพ้นจากการลงโทษที่เข้มงวดจากทางรัฐบาลอินโดนีเซียไปได้ แม้จะเกิดไฟป่าซ้ำทั่วพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล[1]  มีการบันทึกว่าในปีนี้มีจุดความร้อน (hot spot) จำนวนมากในพื้นที่สัมปทานของบริษัทปาล์มน้ำมันและเยื่อกระดาษรายเดิมเหล่านี้

“การหยุดวิกฤตไฟป่าที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ควรเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลอินโดนีเซียมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 แต่เราพบว่าในความเป็นจริงการบังคับใช้กฎหมายต่อบริษัทเอกชนเหล่านั้นทั้งว่างเปล่า อ่อนแอ และไม่สม่ำเสมอ ประธานาธิบดีโจโกวี และบรรดารัฐมนตรีต้องถอนใบอนุญาตบริษัทที่มีไฟป่าเกิดขึ้นในที่ดินของตนเองอย่างทันทีทันใด” กีกี เทาฟิค หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ อินโดนีเซียกล่าว

การวิเคราะห์ของกรีนพีซ อินโดนีเซียซึ่งใช้ข้อมูล “พื้นที่เผาไหม้” ของทางการ  แสดงให้เห็นว่ามีการเผาไหม้ในพื้นที่มากกว่า 21.25 ล้านไร่ (3.4 ล้านเฮกตาร์) ระหว่างปี พ.ศ.2558-2561 [2] จากนั้นนำข้อมูลนี้ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลการให้สัมปทานแก่บริษัทปาล์มน้ำมันและบริษัทเยื่อกระดาษที่หาได้ [3] รวมทั้งการลงโทษทางแพ่งและทางปกครองต่อบริษัทเหล่านี้ ซึ่งรวบรวมจากรายงานอย่างเป็นทางการของหน่วยงานภาครัฐ และข้อมูลที่ร้องขอผ่านกฎหมายการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ

สิ่งที่พบจากรายงานการวิเคราะห์ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่อ้างว่าได้เข้มงวดกวดขันเกี่ยวกับไฟป่าและการบังคับใช้กฎหมาย [4] นับตั้งแต่ไฟป่าส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอินโดนีเซียหลายล้านคน  ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาหมอกควันจากไฟป่ายังแพร่กระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

ข้อค้นพบสำหรับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ระหว่างปีพ.ศ. 2558-2561

  • ในบรรดาผู้รับสัมปทานพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 10 รายที่มีพื้นที่ถูกเผาไหม้มากที่สุด ไม่มีรายใดได้รับโทษร้ายแรงทางแพ่งหรือทางการปกครอง ในจำนวนนี้ 7 รายมีจุดความร้อนในพื้นที่สัมปทานของตนเองจำนวนมากในปีนี้ [5]
  • รัฐบาลไม่ได้ยึดคืนใบอนุญาตสัมปทานบริษัทปาล์มน้ำมันใด ๆ จากกรณีการเกิดไฟป่า
  • พื้นที่สัมปทานปลูกปาล์มน้ำมันจำนวนมหาศาลถูกเผาซ้ำ ๆ แต่ไม่ได้รับโทษทางกฎหมายทางแพ่งและทางการปกครองใด ๆ

ข้อค้นพบสำหรับอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ

  • พื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ในเขตสัมปทานปลูกพืชโตเร็วทำเยื่อกระดาษซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ ระหว่างปี พ.ศ.2558-2561 มีความเชื่อมโยงกับบริษัท Sinar Mas และ Asia Pulp & Paper พื้นที่สัมปทานนี้มีพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่สัมปทานอื่น ๆ ในอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทถูกลงโทษเพียงการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้
  • บริษัทที่เกี่ยวข้องกันของ Sinar Mas/:APP ได้จุดไฟเผาบนที่ดินของตัวเองทุกปี ระหว่างปี พ.ศ.2558-2561 แต่ไม่ได้รับโทษทางแพ่งหรือทางการปกครองอย่างรุนแรงใด ๆ  ในปีนี้มีจุดความร้อนมากกว่า 200 จุด
  • บริษัทที่เกี่ยวข้องกันของ APRIL/Royal Golden Eagle (RGE) มีการจุดไฟเผาบนพื้นที่สัมปทานทุกปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และถูกลงโทษทางแพ่ง/ทางปกครองอย่างเข้มงวดเพียง 2 ครั้ง มีการสืบสวนสอบสวนทางอาญาบริษัทจำนวนมาก รวมทั้งบริษัทนี้ และตำรวจได้ยุติการสืบสวนสอบสวนในปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ ในปีนี้ บริษัทมีจุดความร้อนเกือบ 500 จุด

“ทำไมบริษัทปาล์มน้ำมันสิบแห่งที่มีพื้นที่ถูกเผาไหม้มากที่สุดในอินโดนีเซียไม่ถูกลงโทษอย่างเข้มงวดแม้แต่รายเดียว ในสมัยของรัฐบาลประธานาธิบดีโจโกวี  ทำไมบริษัทสัมปทานที่มีพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้มากที่สุดในอินโดนีเซียจึงไม่ถูกลงโทษ โชคไม่ดี เป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้บังคับใช้กฎหมายอย่างไม่จริงจัง และนี่เป็นเหตุผลหลักว่าทำไมไฟป่าที่ขยายตัวอย่างรุนแรงจึงหวนกลับมา” กีกี เทาฟิคกล่าว

การวิจัยเชิงสืบสวนของกรีนพีซ อินโดนีเซียเมื่อต้นปี 2562 นี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีบริษัทใดถูกดำเนินคดีในศาลโดยหน่วยงานภาครัฐ ในฐานะผู้มีบทบาทในการเกิดไฟป่าและการทำไม้ผิดฎหมายที่ต้องจ่ายค่าชดเชย มูลค่าทั้งหมดคิดเป็นเงินมากกว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ .[6]

ธนาคารโลกประมาณการณ์ว่าวิกฤตไฟป่าในปีพ.ศ. 2558 ทำให้อินโดนีเซียสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 16 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากการสูญเสียพื้นที่ป่า การเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่น ๆ [7] ยิ่งไปกว่านั้น มลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนยังเป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจและความเจ็บป่วยอื่น ๆ ของคนหลายแสนคนทั่วภูมิภาคนี้ และการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่าอาจนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนมากกว่า 100,000 ราย[8] นอกจากมลพิษทางอากาศ แล้วคาดว่า มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ 11.3 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสหภาพยุโรปทั้งหมด [9] 

ดูภาพและวิดิโอ ที่นี่

หมายเหตุ:

[1] ดูบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม ที่นี่

[2] ทีมแผนที่ของกรีนพีซ อินโดนีเซียวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้จากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ อินโดนีเซีย พื้นที่ถูกเผาไหม้ทั้งสิ้น 16,278,125 ไร่ ในปีพ.ศ. 2558, 2,728,125 ไร่ ในปีพ.ศ. 2559; 1,025,625 ไร่ ในปีพ.ศ. 2560 และ 3,300,000 ไร่ ในปีพ.ศ. 2561 ซึ่งพื้นเหล่านี้รวมถึงพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ซ้ำ ๆ

[3] ขณะที่มีความพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลจำนวนพื้นที่สัมปทานจะถูกต้องแม่นยำ   แต่แหล่งข้อมูลการสัมปทานมีหลายแห่งและข้อมูลแต่ละแห่งแตกต่างกัน ประกอบกับการขาดความโปร่งใสของรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรม จึงอาจมีความคลาดเคลื่อน ตัวเลขพื้นที่ที่ถูกเผาเคลื่อนไหวขึ้น-ลงอันเนื่องมาจากประเด็นนี้

[4] “ต้องมีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นทางการปกครอง ทางแพ่ง หรือทางอาญาก็ตาม ต้องลงมือทำสิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างความคงเส้นคงวาทางด้านกฎหมาย และเพื่อเติมเต็มความยุติธรรมแก่ชุมชน” ประธานาธิบดีโจกอ วิโดโด้, 12 สิงหาคม 2559 ดูหน้า 4 ที่นี่

[5] รายชื่อบริษัทปาล์มน้ำมัน 10 ราย อยู่ในตารางที่สอง ของ บทวิเคราะห์ ของกรีนพีซ อินโดนีเซีย

[6] ดูที่ ‘Indonesia land-burning fines unpaid years after fires’  และ ‘11 perusahaan perusak lingkungan rugikan negara Rp18 triliun

[7] ‘The cost of fire : an economic analysis of Indonesia’s 2015 fire crisis’ 

[8] ‘Public health impacts of the severe haze in Equatorial Asia in September–October 2015’ 

[9] ‘Fire carbon emissions over maritime southeast Asia in 2015 largest since 1997’ 

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม