โตเกียว, 20 สิงหาคม 2019 – รัฐบาลญี่ปุ่นและสถาบันการเงินระหว่างประเทศเช่น ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JBIC), องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น(JICA), และธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของญี่ปุ่น(Nippon Export and Investment-NEXI)มีบทบาทในการส่งออกมลพิษไปยังประเทศต่างๆ ผ่านการให้เงินกู้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งพบว่ามีการปล่อยมลพิษในระดับที่มากกว่าที่กำหนดไว้ในญี่ปุ่น

มาตรฐานต่างระดับในการจำกัดการปล่อยมลพิษนี้เอื้ออำนวยให้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินกู้ปล่อยมลพิษไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) มลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และฝุ่นละอองมากกว่าการปล่อยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในญี่ปุ่นถึง 13, 33, และ 40 เท่าตามลำดับ

ผลการศึกษาโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรีนพีซ ญี่ปุ่น ประเมินว่า เงินลงทุนมูลค่า 16,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในโรงไฟฟ้าถ่านหินช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2556 ถึง เดือนพฤษภาคม 2562 ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่นจะก่อให้เกิดการเสีียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ของผู้คนทั่วโลกราว 150,000 – 410,000 คน ในช่วง 30 ปี ของอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง

ฮันนา ฮักโกะ นักรณรงค์อาวุโสด้านพลังงาน กรีนพีซญี่ปุ่น กล่าวว่า “มันแย่มากที่ได้เห็นช่องว่างระหว่างคำมั่นสัญญาของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะส่งออกโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพกับความเป็นจริงของการส่งออกเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่ไม่ถูกยอมรับ ซึ่งญี่ปุ่นควรจะให้เกียรติประเทศคู่ค้าและผู้คนของประเทศนั้นๆ โดยการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานที่ไม่ทำลายทำลายสุขภาพของผู้คนและสิ่งแวดล้อม”

“ญี่ปุ่นสามารถเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด แต่นั่นย่อมหมายถึงการยุติการส่งออกเทคโนโลยีถ่านหินที่ก่อมลพิษ”

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม G7 (ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ) ที่ยังคงเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังรั้งอันดับ 2 ในกลุ่ม G20 ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ในโครงการเกี่ยวกับถ่านหินในประเทศต่าง ๆ

ทาทา มัสตาสยา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาค กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า

“ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ดีพอสำหรับญี่ปุ่น มันก็ไม่ดีพอสำหรับอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน รัฐบาลของประเทศที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องปกป้องชุมชนด้วยการกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดมาก และเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วจากถ่านหินไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายและการลงทุนดังกล่าวจำเป็นต้องเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ เพื่อสุขภาพ ของคนและสิ่งแวดล้อม และเพื่อปกป้องอนาคตของโลกเรา”

กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นและนานาประเทศที่ได้รับเงินกู้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจากญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงจากถ่านหินไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในทันที โดยหนทางนี้เป็นทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพจากมลพิษของถ่านหิน ซึ่งรวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนหลายแสนคน ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการหลบเลี่ยงผลกระทบเลวร้ายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วย

ประเด็นหลักของผลการวิเคราะห์จากแบบจำลอง

  • โรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศต่างๆ ที่ได้รับเงินกู้จากญี่ปุ่น มีการปล่อยมลพิษก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ก๊าซมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และฝุ่นละออง มากกว่าการปล่อยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในญี่ปุ่นถึง 13, 33, และ 40 เท่าตามลำดับ
  • ประชากรราว 3.3 ล้านคนมีแนวโน้มเสี่ยงได้รับอันตรายจากมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ที่โรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยออกมา แม้ระดับดังกล่าวจะเป็นไปตามที่ท้องถิ่นกำหนดไว้ก็ตาม
  • ประเทศที่คาดว่าจะมีประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการลงทุนของญี่ปุ่นมากที่สุดคือ อินเดีย (160,000 คน) และอินโดนีเซีย (72,000 คน) ตามด้วยเวียดนาม (36,000 คน) และบังกลาเทศ (14,000 คน) ในช่วง 30 ปีของอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากต้องเผชิญกับมลพิษPM2.5 และมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นเวลาหลายสิบปีตามอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าถ่านหิน

อ่านรายงานฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) คลิกที่นี่

อ่านบทคัดย่อ (ภาษาอังกฤษ) คลิกที่นี่

 

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม