นิวเดลี, 19 สิงหาคม 2019 – ผลจากการวิเคราะห์ของกรีนพีซ อินเดีย โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมของนาซาระบุว่าโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินและน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเป็นแหล่งกำเนิด 2 ใน 3 ของมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ส่วนโรงกลั่นน้ำมันและโรงถลุงเหล็ก ก็เป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทั่วโลกเช่นเดียวกัน

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตและโรคภัยไข้เจ็บอันเกิดจากมลพิษทางอากาศทั่วโลก การจัดอันดับพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทั่วโลกครั้งนี้ แสดงให้เห็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดของมาตรฐานการปล่อยมลพิษทางอากาศอย่างเข้มงวดของโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล

ลอรี มิลลิเวียทา นักวิเคราะห์อาวุโสประจำกรีนพีซ นอร์เวย์ กล่าวว่า “การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่าง ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ คือแหล่งกำเนิดมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ขณะที่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดจะช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงช่วยรักษาชีวิตผู้คนหลายพันคนในทุกปี ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต่างๆ จะต้องเร่งลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลโดยเร็ว มุ่งสู่ทางเลือกที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการทำให้มาตรฐานการปล่อยมลพิษทางอากาศเข้มงวดมากขึ้น”

สุนิล ดาฮิยา ผู้เชี่ยวชาญงานรณรงค์ประจำกรีนพีซเอเชียตะวันออก กล่าวว่า : “มลพิษทางอากาศและวิกฤตสภาพภูมิอากาศมีทางออกเหมือนกัน  รัฐบาลทั่วโลกมีหน้าที่ต่อพลเมืองของประเทศในการยุติการลงทุนเชื้อเพลิงฟอสซิล และเปลี่ยนผ่านไปสู่แหล่งพลังงานที่ปลอดภัยกว่า และยั่งยืนกว่า”

ผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ รวมถึง 

  • อินเดียเป็นอันดับต้นของแหล่งกำเนิดมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของโลกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 15 ของการปล่อยมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากกิจกรรมของทั่วโลก แซงหน้ารัสเซียและจีน
  • หากพิจารณาเป็นรายพื้นที่มลพิษโรงถลุงเหล็ก นอริลส์ก (Norilsk Smelter Complex) ในรัสเซีย ยังคงเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มากที่สุดในโลก ตามด้วยจังหวัดเอ็มพูมาลังก้า (Mpumalanga) ในแอฟริกาใต้ และจังหวัดซากรอซ (Zagroz) ในอิหร่าน
  • จังหวัดเอ็มพูมาลังก้า (Mpumalanga) ของแอฟริกาใต้ เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 12 แห่ง ทำให้จังหวัดแห่งนี้ กลายเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากภาคการผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • ซาอุดิอาระเบียเป็นอันดับต้นของแหล่งกำเนิดมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดการปล่อยอยู่ที่จังหวัดมักกะห์ (Makkah) เนื่องจากจังหวัดดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรมและโรงกลั่นน้ำมันของภูมิภาค
  • สำหรับภูมิภาคยุโรป ยูเครน เซอร์เบีย และบัลแกเรีย ติดอันดับ 1 ใน 20 ประเทศ ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากที่สุดในโลก
  • ออสเตรเลีย ยังคงเป็นประเทศที่ขาดกรอบทางกฎหมายในการจำกัดควบคุมหรือลดการปล่อยมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้า ขณะที่สหรัฐฯ จีน และยุโรป ต่างเดินหน้าควบคุมการปล่อยมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เข้มงวดมากขึ้น

หมายเหตุ :

เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจพื้นที่แหล่งกำเนิดมลพิษ กรีนพีซได้จัดทำแผนที่ Interactive Map ระบุตำแหน่งการปล่อยมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถค้นหา ในภูมิภาคต่างๆ

อ่านรายงานฉบับสรุป ที่นี่

ฐานข้อมูลทั้งหมดคลิก ที่นี่