ปัจจุบัน มหาสมุทรต้องเผชิญภัยคุกคามที่อันตรายและเสี่ยงต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนานับประการ เว้นเสียแต่ว่าเราจะกำหนดมาตรการปกป้องผืนน้ำสีฟ้านี้อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุด “ลึกลงไปใต้มหาสมุทร” (In Deep Water) ของกรีนพีซ ระบุชัดเจน ถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่กับมหาสมุทรจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในทะเลลึก ซึ่งอาจส่งผลให้สัตว์น้ำพิเศษเฉพาะถิ่นต้องสูญพันธุ์ไป รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ร่วมสนับสนุน สนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) ในที่ประชุมสหประชาชาติ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรในท้องทะเล 

ลุยซา แคสสัน ผู้ประสานงานรณรงค์ปกป้องมหาสมุทร ของกรีนพีซ กล่าวว่า “สุขภาพของมหาสมุทรเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการอยู่รอดของมนุษย์ การทำเหมืองในทะเลลึกอาจส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลรวมถึงมนุษยชาติ เพราะทะเลน้ำลึกเป็นระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่มีลักษณะพิเศษที่เรายังไม่เคยศึกษา แต่อุตสาหกรรมการทำเหมืองสามารถทำลายสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้ให้หายไปได้ในพริบตา ก่อนที่เราจะมีโอกาสได้ศึกษาและความทำความรู้จักกับมัน” ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาระบบนิเวศใต้ท้องทะเลลึกได้เพียง 0.0001% เท่านั้น

ในรายงานของกรีนพีซ อ้างอิงถึงความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์ ภาครัฐ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และตัวแทนของอุตสาหกรรมการประมง ซึ่งหวั่นเกรงต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศในท้องทะเล จากการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการทำเหมือง รวมถึงมลพิษที่จะปนเปื้อนลงไปในมหาสมุทร รายงานยังอธิบายถึงผลกระทบของการทำเหมืองในทะเลลึก ต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะจะไปรบกวน บลูคาร์บอน (Blue Carbon) ซึ่งเป็นกระบวนการที่คาร์บอนไดออกไซด์ถูกดูดซับโดยมหาสมุทร ซึ่งมหาสมุทรสามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้ถึง 4 เท่า เนื่องจากมหาสมุทรสามารถดึงคาร์บอนลงไปเก็บไว้ใต้ทะเลลึกได้มากกว่า

แม้ว่า การทำเหมืองในทะเลลึกเชิงพาณิชย์อาจจะยังไม่เริ่มขึ้น แต่ก็มีการออกใบอนุญาตสำรวจ จำนวน 29 ฉบับให้กับประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศจีน เกาหลี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนีและรัสเซีย ซึ่งต่างอ้างสิทธิในพื้นที่ขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก และอินเดีย รวมกันกว่า 1 ล้านกิโลเมตร หรือคิดเป็นเกือบสองเท่าของประเทศสเปน ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัท Lockheed Martin ซึ่งเป็นบริษัทด้านอากาศยาน อวกาศ และการป้องกันประเทศรายใหญ่ของโลกสัญชาติอเมริกา ได้รับใบอนุญาตสำรวจความเป็นไปได้ในการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลสองแห่งจากสหราชอาณาจักร

รายงานฉบับนี้ยังเน้นย้ำถึง ความอ่อนแอของการกำกับดูแลมหาสมุทรที่ไม่เป็นระบบในปัจจุบันขององค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority: ISA) ซึ่งอยู่ภายใต้องค์กรสหประชาชาติ โดยมีหน้าทรับผิดชอบกำกับดูแลอุตสาหกรรมการทำเหมืองทะเลน้ำลึก

“บทบาทขององค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ หรือ ISA นั้นยังไม่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ด้านการปกป้องมหาสมุทร เนื่องจากไปส่งเสริมผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในทะเลลึกและการต่อต้านสนธิสัญญาทะเลหลวง” ลุยซา แคสสันกล่าว

“เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเห็นชอบกับสนธิสัญญาทะเลหลวง เพื่อปูทางที่มั่นคงไปสู่การสร้างเครือข่ายเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลที่จะปราศจากการแสวงหาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมทุกรูปแบบรวมถึงการทำเหมืองในทะเลลึก นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องกำหนดและบังคับใช้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นนอกเขตคุ้มครองเช่นกัน” ลุยซากล่าว

รายงาน “ลึกลงไปใต้มหาสมุทร” (In Deep Water) ตีพิมพ์ในช่วงเวลาเดียวกับที่ เรือเอสเพอรันซา ของกรีนพีซ กำลังเดินทางไปกลางมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อทำการศึกษาในพื้นที่ที่เรียกว่า “ลอส ซิตี้” (Lost City) โดยที่แห่งนี้มีลักษณะพิเศษคือ  เป็นปล่องระบายน้ำพุร้อนซึ่งสร้างอยู่เหนือพื้นทะเล และอาจมีความเชื่อมโยงกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในโลก แม้องค์การยูเนสโก จะประกาศรับรองให้สถานที่แห่งนี้เป็นมรดกโลกแล้วก็ตาม แต่สถานที่แห่งนี้กลับตกอยู่ภายใต้การคุกคาม หลังจากถูกรวมอยู่ในส่วนหนึ่งของแผนการสำรวจความเป็นไปได้ในการทำเหมืองแร่ในทะเลลึก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กร ISA ที่ให้รัฐบาลโปแลนด์เข้าไปสำรวจได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา 

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม