กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – [18 เมษายน 2568] – กรีนพีซ ประเทศไทย ขอแสดงความยินดีที่รัฐบาลไทยมีมติอนุมัติการลงนามความตกลงภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้อย่างยั่งยืนซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ (Agreement under the United Nations Convention on the Law of the Sea on the Conservation and Sustainable Use of Marine Biological Diversity of Areas beyond National Jurisdiction: BBNJ)  การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการแสดงบทบาทของประเทศไทยในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลหลวง และการส่งเสริมการกำกับดูแลมหาสมุทรอย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

สนธิสัญญาทะเลหลวง เป็นกรอบการทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายเขตคุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas – MPAs) ในพื้นที่ทะเลนอกน่านน้ำ โดยเน้นถึงการแบ่งปันและเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยเฉพาะทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล (Marine Genetic Resouces -MGRs) อย่างเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเสริมสร้างความสามารถในการอนุรักษ์ทะเลและมหาสมุทรได้อย่างรอบด้านมากขึ้น

“เราขอชื่นชมรัฐบาลไทยสำหรับก้าวสำคัญนี้ในการปกป้องมหาสมุทร”

ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ Ocean Justice ของ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

“ทะเลนอกน่านน้ำหรือทะเลหลวงเป็นหน้าด่านที่สำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การที่รัฐบาลไทยมีมติอนุมัติลงนามสนธิสัญญาทะเลหลวง ถือเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นก้าวแรกของไทยที่จะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับนานาชาติในการอนุรักษ์ท้องทะเลและมหาสมุทร เป้าหมายต่อไป เราต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการลงนามสัตยาบันให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเปลี่ยนผ่านจากความมุ่งมั่นเป็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องท้องทะเลและมหาสมุทร”

ทั้งนี้ แม้ว่าน่านน้ำของประเทศไทยจะไม่ได้ติดกับทะเลหลวงโดยตรง แต่การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นอกอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพของระบบนิเวศชายฝั่งของไทยเอง เพราะสัตว์ทะเลที่สำคัญหลายชนิด เช่น เต่าทะเล หรือฉลาม เป็นสัตว์ทะเลที่เกิดในทะเลในน่านน้ำและโตในทะเลนอกน่านน้ำ การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการปกป้องทางทะเลและมหาสมุทรจึงไม่เพียงเชื่อมโยงการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชนชายฝั่งและประมงภายในประเทศ

ปัจจุบัน มีประเทศที่ได้ลงนามในข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวงแล้วจำนวน 112 ประเทศ โดยในจำนวนนั้นมี 21 ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันแล้ว ทั้งนี้ เพื่อสนธิสัญญาทะเลหลวงมีผลบังคับใช้ จำเป็นต้องมีอย่างน้อย 60 ประเทศที่ให้สัตยาบัน ซึ่งจะเปิดทางให้การจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในทะเลหลวง

การอนุมัติการลงนามในข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวงของประเทศไทย เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการให้สัตยาบันและมีส่วนร่วมในความพยายามระดับภูมิภาคและระดับโลกในการดำเนินการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในเขตนอกน่านน้ำอย่างจริงจัง เพื่อให้เราสามารถส่งต่อมหาสมุทรที่สมบูรณ์ให้กับคนรุ่นต่อไป