9 กันยายน 2567

จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ในภูมิภาคเอเชีย

พวกเราในฐานะขององค์กรภาคประชาสังคม และเครือข่ายที่ทำงานขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ  ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยุติการใช้ถ่านหินให้ได้ก่อนหรือภายในปี 2578 โดยการยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและโครงการเหมืองถ่านหินใหม่ทั้งหมดทันที และการจัดทำแผนปฏิบัติการปลดระวางถ่านหินที่เป็นธรรม

ความตกลงปารีส (Paris Agreement) มีเป้าหมายที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม เพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ การเลิกใช้เชื้อเพลิงถ่านหินซึ่งเป็นต้นตอสำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกให้ได้อย่างรวดเร็วถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้ความตกลงปารีสกำหนดให้ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ยุติการใช้ถ่านหินภายในปี 2573 และประเทศอื่น ๆ ภายในปี 2583

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกได้มีความก้าวหน้าอย่างมากในการลดใช้ถ่านหินเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของแผนการดำเนินงานโครงการถ่านหินทั่วโลก  ระหว่างปี 2558 ถึง 2564 ชี้ให้เห็นถึงการลดลงของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถึงร้อยละ 76 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการใช้ถ่านหินและกำลังการผลิตถ่านหินทั่วโลกได้ฟื้นตัวกลับมาจนถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 เนื่องจากประเทศในภูมิภาคเอเชียมีความต้องการสูง ส่งผลให้กำลังการผลิตถ่านหินรวมกันทั่วโลกในขั้นตอนวางแผนการการสร้างนั้นเพิ่มขึ้น โดยภูมิภาคเอเชียมีบทบาทสำคัญในเดินหน้าโครงการเหล่านี้ นอกจากนี้เรามีความกังวลต่ออัตราการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดขึ้นน้อยลง  ใขณะที่การยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2554 

เรารู้สึกเสียใจที่ประเทศร่ำรวยยังคงสนับสนุนการขยายการใช้ถ่านหินในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง ธนาคารและสถาบันทางการเงินชั้นนำของโลกที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ได้มีการขยายโครงการถ่านหินใหม่ภายในพรมแดนของตน ยังคงมีบทบาทสำคัญในการจัดหาเงินทุนสนับสนุนโครงการถ่านหินใหม่ในเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ ในเวลาเดียวกัน เรารู้สึกกังวลที่ธนาคารหลักในเอเชียมีนโยบายที่อ่อนแอหรือไม่มีนโยบายกีดกันถ่านหินเลย ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดการขยายการใช้ถ่านหินในภูมิภาคนี้ โดยเปิดโอกาสให้มีการลงทุนในถ่านหินและทำหน้าที่เป็นผู้ให้ทุนทั้งในระดับภูมิภาคและภายในประเทศเพื่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมถ่านหิน

รัฐบาลในเอเชียสามารถและควรดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อยุติการขยายโครงการถ่านหินในประเทศของตน เราต้องการนโยบายที่เข้มงวดกว่าการชะลอโครงการถ่านหินเพียงชั่วคราว ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น รัฐบาลในเอเชียควรประกาศนโยบายหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทันทีและถาวรวมถึงการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลควรยุติการสนับสนุนทางการเงินทั้งจากภาครัฐและเอกชนสำหรับโครงการถ่านหินใหม่ทันที รวมถึงการลงทุนถ่านหินโดยตรงของบริษัทหรือบริษัทตัวแทน

ความต้องการไฟฟ้าใหม่สามารถได้รับการตอบสนองได้ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีต้นทุนน้อยกว่า สร้างได้รวดเร็วกว่า เข้าถึงชุมชนต่าง ๆ ได้สะดวกกว่า และช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล

นอกจากนี้ เรายังเรียกร้องให้เลิกใช้ถ่านหินที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมภายในปี 2578 โดยประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่ทุ่มการลงทุนถ่านหินในเอเชียมหาศาล อย่างเช่น ญี่ปุ่น จะต้องยุติการใช้ถ่านหินให้เร็วขึ้นภายในปี 2573 ซึ่งแผนการปลดระวางถ่านหินควรประกอบด้วย

1. การปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าโดยทันที โรงไฟฟ้าถ่านหินเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหามลพิษเป็นอย่างมาก การลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินเหล่านี้ไม่เพียงแต่คืนทุนแล้ว แต่ได้ยังสร้างกำไรมหาศาลอีกด้วย

2. การสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่ได้ใช้งานอย่างถาวร โรงไฟฟ้าถ่านหินเหล่านี้ไม่ได้มีบทบาทในการตอบสนองความต้องการในปัจจุบันแล้ว

3. การให้คำมั่นสัญญาปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ทั้งหมดก่อนกำหนด ปัจจุบัน ร้อยละ 75 (1,626 กิกะวัตต์) ของการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ทั่วโลก ยังไม่อยู่ภายใต้คำมั่นสัญญานี้ และโรงไฟฟ้าถ่านหินส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเอเชีย

ถ่านหินเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัย 

คำกล่าวที่ว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่เป็นความจริง  พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ได้กลายเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ กลุ่มทุนอุตสาหกรรมถ่านหินต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียทรัพย์สินมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนสามารถแข่งขันกับถ่านหินได้ทั่วโลก รายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ในปี 2566 ระบุว่า ร้อยละ 96 ของไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมเน้นไปที่ระดับกิจการ (utility scale) มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลใหม่ ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่สามในสี่แห่งได้เสนอต้นทุนพลังงานที่ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่แล้ว

การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงสำคัญต่อการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังจะทำให้พลังงานมีราคาถูกลง เข้าถึงได้มากขึ้น และเป็นธรรมมากขึ้นด้วย รายงานของ IEA ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างรวดเร็วสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศที่มีระดับความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจภายในปี 2578  และภายในปี 2593 สำหรับประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

ในภูมิภาคเอเชียซึ่งยังมีผู้คนหลายล้านคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และอีกหลายพันล้านคนที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการให้ความร้อนและทำอาหาร การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเข้าถึงและเป็นความมั่นคงด้านพลังงาน การยกเลิกเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลและการเปลี่ยนรูปแบบการเงินการลงทุนไปสู่การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด จะทำให้ประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น