แม้ว่ามลพิษทางอากาศจะลดลงเล็กน้อยเนื่องจากแนวโน้มที่เปลี่ยนไปในภูมิภาคเอเชียใต้ แต่ยังมีประเทศมากกว่าสามในสี่ของทั่วโลกที่ยังไม่ได้กำหนดหรือไม่สามารถปฏิบัติตามค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศระดับชาติได้

แม้ว่ามลพิษทางอากาศทั่วโลกลดลงเล็กน้อยในปี 2565 แต่ผลกระทบต่ออายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ยังคงอยู่ ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพมนุษย์(AQLI) แสดงให้เห็นว่า หากโลกสามารถลดมลพิษทางอากาศจาก PM2.5 ให้เป็นไปตามค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อย่างถาวร คนจะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1.9 ปี หรือรวมกันเป็น 14.9 พันล้านปีชีวิตทั่วโลก

ข้อมูลนี้ชี้ชัดว่ามลพิษทางอากาศเป็นความเสี่ยงจากเหตุปัจจัยภายนอกที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพมนุษย์ ผลกระทบดังกล่าวเปรียบได้กับการสูบบุหรี่ และมีความรุนแรงมากกว่าการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปกว่า 4 เท่า การบาดเจ็บจากการขนส่ง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์กว่า 5 เท่า และการติดเชื้อ HIV/AIDS กว่า 6 เท่า อย่างไรก็ตาม ความท้าทายด้านมลพิษทางอากาศทั่วโลกมีความไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก โดยผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดต้องหายใจอากาศที่มีมลพิษมากกว่าพื้นที่ที่มีมลพิษต่ำถึง 6 เท่า ทำอายุขัยเฉลี่ยของพวกเขาลดลงราว 2.7 ปี

“แม้ว่าเราจะพบว่ามลพิษทางอากาศยังคงเป็นปัญหาระดับโลก แต่ผลกระทบใหญ่ที่สุดมักจะกระจุกตัวอยู่ในจำนวนประเทศที่ค่อนข้างน้อย ทำให้ชีวิตของผู้คนในบางพื้นที่สั้นลงหลายปี ในบางภูมิภาคอาจสั้นลงมากกว่า 6 ปี” Michael Greenstone ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และผู้ก่อตั้ง AQLI กล่าวร่วมกับทีมงานจาก Energy Policy Institute ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก (EPIC)  “บ่อยครั้งมากที่ระดับความเข้มข้นสูงของมลพิษทางอากาศสะท้อนถึงความทะเยอทะยานระดับต่ำในการกำหนดนโยบาย หรือความล้มเหลวในการบังคับใช้นโยบายที่มีอยู่ เมื่อประเทศต่าง ๆ ต้องสมดุลระหว่างเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ  สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม AQLI จะยังคงชี้ให้เห็นว่าการลดมลพิษทางอากาศสามารถทำให้อายุขัยเฉลี่ยยาวนานขึ้นได้”

การกำหนดค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศระดับชาติเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และการปรับปรุงคุณภาพอากาศ ค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศเหล่านี้ มีระดับความเข้มงวดที่แตกต่างกันไป ซึ่งสะท้อนถึงเป้าหมายทางนโยบายที่หลากหลายของแต่ละประเทศ ในขณะที่พวกเขาต้องการสมดุลระหว่างเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ อย่างไรก็ตามประชากรประมาณ 1ใน 3 ของโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่คุณภาพอากาศไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศที่ประเทศของพวกเขากำหนด หากประเทศเหล่านี้สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ตนเองตั้งไว้ได้ ผู้คน 2.5 พันล้านคนนี้จะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1.2 ปี

Tanushree Ganguly ผู้อำนวยการ AQLI กล่าวว่า “ การกำหนดค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศที่สูงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการดำเนินนโยบายและกลไกการตรวจสอบที่ช่วยบังคับใช้ค่ามาตรฐานเหล่านี้ ของบางประเทศสามารถทำได้สำเร็จ และสิ่งนี้พิสูจน์ได้ว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้”

ในขณะที่ 37 จาก 94 ของประเทศที่มีการกำหนดค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศยังไม่สามารถปฏิบัติตามได้ มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศและเขตแดนทั้งหมดยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศเลย ดังนัั้นราวร้อยละ 77ของประเทศและเขตแดนทั่วโลกยังไม่สามารถปฏิบัติตามหรือไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศระดับชาติได้

ในบรรดาประเทศที่ไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศ แทบไม่มีประเทศใด (น้อยกว่าร้อยละ1) ที่รัฐบาลให้ข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศอย่างเปิดเผยทั้งหมด และ 2 ใน 3 ของประเทศเหล่านี้ไม่มีการตรวจสอบมลพิษทางอากาศจากรัฐบาล ด้วยข้อมูลที่น้อยทำให้การกำหนดค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศและการบังคับใช้นั้นเป็นเรื่องยาก ปีนี้สถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (Energy Policy Institute at The University of Chicago – EPIC)ได้เปิดตัวกองทุน EPIC Air Quality Fund เพื่อสนับสนุนกลุ่มและองค์กรท้องถิ่นในการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศและจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลเพื่อใช้ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด

“ประเทศที่มีมลพิษทางอากาศสูงและขาดข้อมูลคุณภาพอากาศมักจะตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ ซึ่งข้อมูลที่น้อยทำให้ความสนใจหรือการลงทุนด้านนโยบายในเรื่องนี้น้อยลง และส่งผลให้ความต้องการข้อมูลยังคงต่ำ โชคดีที่การเปิดเผยข้อมูลคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง แม้จะเพียงเล็กน้อย ข้อมูลประเภทนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความสำคัญในการสร้างมาตรฐานคุณภาพอากาศระดับชาติ” Christa Hasenkopf ผู้อำนวยการโครงการ Clean Air ที่ EPIC กล่าวปิดท้าย

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

เอเชียใต้

มลพิษทางอากาศทั่วโลกลดลงในปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในเอเชียใต้โดยเฉพาะ แม้มลพิษทางอากาศจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมานานกว่าทศวรรษ แต่ในปีเดียวกันระดับมลพิษลดลงไปราว ร้อยละ18 แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าสาเหตุการลดลงนี้คืออะไร แต่สาเหตุจากสภาพอากาศ เช่น ปริมาณฝนที่สูงกว่าปกติ อาจมีบทบาทสำคัญ และต้องใช้เวลาเพื่อดูว่านโยบายที่เปลี่ยนแปลงจะมีผลกระทบหรือไม่ แม้มลพิษทางอากาศจะลดลง แต่ภูมิภาคแห่งนี้ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็น ร้อยละ45 ของอายุขัยเฉลี่ยที่สูญเสียจากวิกฤตมลพิษทางอากาศสูง หากมลพิษทางอากาศลดลงอย่างถาวรเพื่อให้เป็นไปตามค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้จะมีอายุยืนยาวขึ้น ราว3.5 ปี 

สรุปข้อมูล: บังกลาเทศ, อินเดีย, เนปาล, ปากีสถาน

ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

มลพิษทางอากาศได้เพิ่มขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ—ปี 2565 ก็เช่นกัน โดยมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 13  หากระดับมลพิษทางอากาศสูงเช่นนี้ต่อเนื่อง ผู้อาศัยในภูมิภาคแห่งนี้คาดว่าจะสูญเสียอายุขัยเฉลี่ยประมาณราว 1.3 ปี และในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดคาดว่าจะสูญเสียอายุขัยเฉลี่ยราว 3 ถึง 4 ปี เช่นการ์ต้าซึ่งเป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดเป็นอันดับ4ของโลกถัดจากประเทศในเอเชียใต้ สรุปข้อมูล: การ์ต้า

แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก

มลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของผู้คนในกลุ่มประเทศทวีปแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา(Sub-Saharan Africa) ไม่แพ้กับโรคที่รู้จักกันดีในภูมิภาค เช่น HIV/AIDS มาลาเรีย และน้ำดื่มที่ไม่ปลอดภัย โดยมลพิษทางอากาศสามารถทำให้อายุขัยเฉลี่ยลดลงได้ถึง 5 ปีในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุด สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก รวันดา  บุรุนดี  แคเมอรูน และอิเควทอเรียลกินี เป็น1ใน10ประเทศที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ในบรรดาประเทศ 27 ประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ มีเพียง 2 ประเทศที่มีการกำหนดค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศระดับชาติ ประเทศที่ไม่มีค่ามาตรฐานเหล่านี้ยังไม่มีระบบการตรวจสอบและการเปิดเผยข้อมูลมลพิษทางอากาศ ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการกำหนดค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศที่เหมาะสม

สรุปข้อมูล: ไนจีเรีย, DRC

จีน

แม้จะดูเหมือนว่าเป็นความท้าทายที่ใหญ่หลวงในการลดมลพิษทางอากาศทั่วโลก แต่จีนได้ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น โดยลดมลพิษทางอากาศลงร้อยละ 41 นับตั้งแต่ปี 2547ซึ่งเป็นปีที่จีนเริ่มทำ “สงครามกับมลพิษ” ด้วยการปรับปรุงเหล่านี้ พลเมืองจีนโดยเฉลี่ยคาดว่าจะมีอายุขัยเฉลี่ยยาวขึ้นราว 2 ปี หากการลดลงนี้ยังคงดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตาม มลพิษทางอากาศของจีนยังคงคิดเป็นร้อยละ 20 ของภาระมลพิษทางอากาศของโลก หากจีนปฏิบัติตามค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศอายุขัยเฉลี่ยของจีนอาจเพิ่มขึ้นอีกราว 2.3 ปี

สรุปข้อมูล: จีน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เช่นเดียวกับภูมิภาคเอเชียใต้ และประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการลดลงของมลพิษทางอากาศในปี 2565 แม้ว่าระดับมลพิษทางอากาศจะยังคงสูงและแทบไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลาสองทศวรรษ ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมดต้องสูดอากาศที่ถือว่าไม่ปลอดภัยตามค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งลดอายุขัยเฉลี่ยลงราว 1.2 ปี

สรุปข้อมูล: อินโดนีเซีย, ไทย

ลาตินอเมริก

ในหลายพื้นที่ของลาตินอเมริกา เช่น โคลอมเบีย ผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่ออายุขัยเฉลี่ยเทียบได้กับความรุนแรง แม้ดัชนีคุณภาพอากาศโดยเฉลี่ยในภูมิภาคจะอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัยแต่ค่อนข้างต่ำ แต่พื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดตั้งอยู่ในกัวเตมาลา โบลิเวีย และเปรูประสบกับระดับมลพิษทางอากาศที่คล้ายคลึงกับเอเชียใต้ ผู้คนในภูมิภาคเหล่านี้ จะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นได้ถึง 4 ปีหากดัชนีคุณภาพอากาศตรงตามค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)

สรุปข้อมูล: โคลอมเบีย

สหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันได้รับมลพิษทางอากาศลดลงราวร้อยละ 67.2 เมื่อเทียบกับปี 2513ก่อนที่กฎหมาย Clean Air Act จะมีผลบังคับใช้และพวกเขามีอายุขัยเฉลี่ยยาวขึ้นราว 1.5 ปี อย่างไรก็ตามร้อยละ 94 ของประเทศยังไม่เป็นไปตามค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ปีนี้องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA)ได้ใช้ค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศที่เข้มงวดขึ้น (10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งจะช่วยเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยรวมราว 1.9 ล้านปี หากปฎิบัติตามค่ามาตรฐานนี้ ในปี 2565  แคลิฟอร์เนียติดอันดับ 9 ใน10 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุด เนื่องจากไฟป่า

สรุปข้อมูล: สหรัฐอเมริกา

ยุโรป

ในยุโรป ผู้คนได้รับมลพิษทางอากาศลดลงประมาณร้อยละ 30.2 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2541ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่เริ่มมีการบังคับใช้กฎหมาย Air Quality Framework Directive ส่งผลให้มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 5.6 เดือน อย่างไรก็ตามร้อยละ 96.8 ของยุโรปยังไม่เป็นไปตามค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2565 สหภาพยุโรปเสนอให้กำหนดค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศใหม่และเข้มงวดมากขึ้นจาก 25ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลดลงเหลือ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2573 แต่ร้อยละ 75 ของประชากรใน 12 จาก 28 ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปยังไม่สามารถปฏิบัติตามค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศนี้ได้ พื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดอยู่ในยุโรปตะวันออก ซึ่งผู้คนมีอายุขัยเฉลี่ยลดลงราว 4.8 เดือนเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากอากาศที่สกปรกกว่า หากทั้งสหภาพยุโรปสามารถปฏิบัติตามค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศที่เสนอได้ จะมีการเพิ่มอายุขัย เฉลี่ยราว56.4 ล้านปี

สรุปข้อมูล: ยุโรป

AQLI (Air Quality Life Index) คือดัชนีชี้วัดระดับมลพิษทางอากาศที่นำระดับความเข้มข้นของมลพิษมาแปลงเป็นผลกระทบต่ออายุขัยเฉลี่ย (Life Expectancy) ของ ประชากร

พัฒนาโดย Michael Greenstone ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก และทีมงานที่ Energy Policy Institute มหาวิทยาลัยชิคาโก (EPIC) ดัชนี AQLI ยึดตามการวิจัยล่าสุดที่วัดความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างการสัมผัสมลพิษทางอากาศระยะยาวกับการยืดอายุขัยมนุษย์ ดัชนีนี้รวมการวิจัยดังกล่าวกับการวัดมลพิษจากอนุภาคที่มีความละเอียดสูงทั่วโลก เพื่อให้ข้อมูลที่ไม่เคยมีมาก่อนเกี่ยวกับต้นทุนที่แท้จริงของมลพิษทางอากาศจากอนุภาคในชุมชนทั่วโลก นอกจากนี้ ดัชนียังแสดงให้เห็นว่านโยบายการควบคุมมลพิษทางอากาศสามารถเพิ่มอายุขัยมนุษย์ได้อย่างไรเมื่อเป็นไปตามค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับระดับการสัมผัสที่ปลอดภัย, มาตรฐานคุณภาพอากาศระดับชาติที่มีอยู่, หรือระดับคุณภาพอากาศที่กำหนดโดยผู้ใช้ ข้อมูลนี้สามารถช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นและผู้กำหนดนโยบายเข้าใจถึงความสำคัญของนโยบายการควบคุมมลพิษทางอากาศที่เป็นรูปธรรม

อ่านสรุปข้อมูลสำคัญของประเทศไทย (ภาษาไทย)