กรุงเทพฯ, 31 กรกฎาคม 2567 – เครือข่ายเพื่อพลังงานที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน จัดงาน “A Better World is Possible: ถกถามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2024) เพื่อประชาชนและโลกที่ดีกว่าเดิม” เพื่อให้ประชาชนผู้จ่ายค่าไฟฟ้าได้รับรู้ และเข้าใจต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2567 และเรียกร้องให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 

(กพช.) พิจารณาแก้ไขร่างแผน PDP 2024 โดยให้ความสำคัญกับข้อเสนอจากประชาชน เพื่อให้แผน PDP 2024 สร้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมต่อประชาชน ก่อนที่จะมีการอนุมัติในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2567  หรือ  PDP 2024 จะเป็นแผนแม่บทที่กำหนดการลงทุนระบบไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศ ที่ได้มาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประชากร กิจกรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การวางแผนล่วงหน้าในระยะเวลา 15-20 ปี  ทั้งหมดนี้จะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการลงทุนทางด้านพลังงาน และค่าใช้จ่ายเหล่านั้นก็จะถูกส่งต่อมายังบิลค่าไฟฟ้าของประชาชน

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวว่า

“ปัญหาสำคัญของร่างแผน PDP 2024 ฉบับนี้คือ กระบวนการยอมรับจากภาคประชาชน เพราะทุกครั้งที่มองย้อนกลับไปที่ปัญหาของค่าไฟฟ้าแพง ล้วนมีสาเหตุมาจากการวางแผน PDP ที่ผิดพลาดทั้งสิ้น 

ได้แก่ การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง เพราะไม่ได้ประเมินรวมสัดส่วนของผู้ที่ผลิตพลังงานใช้เองที่เพิ่มมากขึ้น เลือกวิธีการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลที่กำลังเป็นของล้าสมัย และทำให้เกิดวิกฤตโลกเดือดเพิ่มขึ้น และเป็นการบดบังความสามารถในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หากเราพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้ไว โรงไฟฟ้าฟอสซิลก็จะถูกใช้น้อยลง เชื้อเพลิงฟอสซิลก็จะไม่คุ้มค่า ทำให้เกิดค่าไฟฟ้าแพงมากขึ้นเลยปิดกั้นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ในขณะฟอสซิลที่มีอยู่ปัจจุบันก็ล้นระบบอยู่แล้ว 

ในแผน PDP 2024 นี้ไม่ได้มีเป้าหมายโซลาร์รูฟท้อป (solar rooftop) จริง ๆ แล้วมันเป็นวิธีการพึ่งพาตนเองในการผลิตพลังงาน และไม่จำเป็นที่เราจะผูกขาดให้ใช้ไฟฟ้าจาก กฟผ. เท่านั้น ถ้าเราส่งเสริมด้านนี้ให้มาก ๆ มันก็จะช่วยลดการใช้สายส่ง เพราะผลิตไฟที่ไหนก็ใช้ที่นั้น อีกทั้งไม่ต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศที่แพงและราคาไม่แน่นอน ดังนั้นถ้ารัฐมองหาความมั่นคงด้านพลังงานต้องหันมาส่งเสริมให้เกิด Solar Rooftop ในแผน PDP นี้ด้วย”

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ เครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (CFNT) กล่าวว่า

“ร่างแผน PDP2024 กำลังพาไทยไปเจอปัญหาด้านเศรษฐกิจ 3 ประการ อย่างแรกคือต้นทุนที่ผันผวนจากสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้น อย่างที่สองคือต้นทุนที่แพงจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่อาจเผชิญกับการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน หรือต้องพึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพงอย่างการดักจับและกักเก็บคาร์บอน อย่างที่สามคือเขียวไม่พอ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ของไทยล่าช้าที่สุดในอาเซียน ความล่าช้านี้กำลังทำให้เราเสียเปรียบในการแข่งขันเพราะนอกจากจะไม่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทที่ให้ความสำคัญด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ภาคส่งออกของเรายังเผชิญกับกำแพงภาษีจากมาตรการคาร์บอนข้ามพรมแดนซึ่งเริ่มบังคับใช้แล้วในสหภาพยุโรป ส่วนแคนาดา ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาก็กำลังพิจารณาเดินหน้ากฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ทางออกที่เป็นไปได้ในปัจจุบันคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนผ่านการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฟอสซิลสู่พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังปล่อยคาร์บอนต่ำ และประเทศไทยยังโชคดีที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมหาศาลอีกด้วย”

ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า

“แม้ประเทศไทยประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 แต่ร่างแผน PDP 2024 ยังไม่หลุดพ้นไปจากการครอบงำของผลประโยชน์อุตสาหกรรมฟอสซิล  ซ้ำร้าย ยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด มีเพียงระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเต็มร้อยเท่านั้นหากประเทศไทยต้องการไปถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero ตามที่ประกาศไว้ อย่างไรก็ตาม เนื้อแท้ของแผน Net Zero ของไทยนั้น นอกจากจะเอื้อให้อุตสาหกรรมฟอสซิลเดินหน้าสำรวจ ขุดเจาะ สกัดและเผาไหม้ถ่านหิน ก๊าซและน้ำมันต่อไปแล้ว ก็ยังใช้กลยุทธ์ฟอกเขียวโดยการปลูกป่าชดเชยคาร์บอน (carbon offset) หรือใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) ที่ต้นทุนสูงลิบลิ่วและไม่ได้รับการพิสูจน์”

ในขณะที่ช่วงบ่ายตัวแทนประชาชนจาก 5 ภูมิภาคกว่า 50 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือรวบรวมข้อเสนอต่อร่างแผน PDP2024 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หลังจากที่ช่วงเช้ามีการนำเสนอความคิดเห็น บทสรุป และข้อเสนอที่ได้จากเวทีระดมความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 ที่เครือข่าย JustPow ได้จัดทำขึ้นใน 5 ภูมิภาค 

หากร่าง PDP 2024 ไม่ได้รับการแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน ค่าความเสียหายจากการวางแผนที่ผิดพลาดของภาครัฐจะถูกผลักภาระมาที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคน

ร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกระบวนการและร่างแผน PDP2024 ที่ไม่มั่นคง แพง และไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero ได้ที่  https://act.gp/pdp-petition 

หมายเหตุ

[1] 13 ข้อสังเกตต่อร่างแผน PDP2024: https://justpow.co/project-ebook-pdp

[2] จดหมายเปิดผนึกและข้อเสนอถึงรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน“ทบทวนกระบวนการและร่างแผน
PDP2024 ที่ไม่มั่นคง แพง และไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero” https://act.gp/proposal-PDP2024 

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ โทร.081 929 5747 อีเมล. [email protected]

มนูญ วงษ์มะเซาะห์ โทร.062 197 2543 อีเมล. [email protected]