เขตเศรษฐกิจจำเพาะ, อ่าวไทย, 27 มิถุนายน 2567 – นักกิจกรรมจากเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ซึ่งเป็นเรือธงของกรีนพีซทำการประท้วงอย่างสันติ ณ แท่นขุดเจาะก๊าซฟอสซิลแหล่งอาทิตย์ คัดค้านโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Offshore Carbon Capture And Storage : CCS) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอ่าวไทย [1]  เพื่อเปิดโปงการฟอกเขียวของอุตสาหกรรมฟอสซิล

อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ของกรีนพีซ ประเทศไทยบนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ กล่าวว่า

“แผนการดักจับและกักเก็บคาร์บอนซึ่งจะเกิดขึ้นที่แหล่งก๊าซอาทิตย์นี้ ไม่อาจนำพาเราไปสู่อนาคตคาร์บอนต่ำได้เลย แผนการดังกล่าวเป็นเพียงใบอนุญาตเบิกทางให้บริษัทผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อย่าง ปตท. สผ. เดินหน้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายสภาพภูมิอากาศของเราในขณะที่สร้างผลกำไรมหาศาลต่อไป กรีนพีซเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเพื่อทำให้อุตสาหกรรมฟอสซิลมีภาระรับผิดต่อความสูญเสียและความเสียหายจากวิกฤตโลกเดือด ขณะเดียวกัน ปฎิรูปนโยบายสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อแนวทางที่ไม่ใช่ระบบตลาด แต่มุ่งผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักและไปให้พ้นจากการชดเชยคาร์บอน  กรีนพีซยังเรียกร้อง ปตท.สผ.ในฐานะเป็นอุตสาหกรรมฟอสซิลที่มีส่วนสำคัญในการก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศยกเลิกแผนการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเลในทันที”

แหล่งก๊าซฟอสซิลอาทิตย์ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ป.ต.ท. สผ.ร่วมทุนกับบริษัทเชฟรอน [2] [3] จะเป็นที่ตั้งของโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเลแห่งแรกของไทย[4] และยังเป็นหนึ่งใน 57 แผนการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเลทั่วโลกที่จะกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ต่อมหาสมุทรโลก และการเบี่ยงเบนที่เป็นอันตรายต่อทางออกที่แท้จริงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ [5] จากข้อมูลที่ระบุไว้ โครงการนี้ถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งการขุดเจาะก๊าซ โดยการแยกคาร์บอน 700,000 -1,000,000 ตันจากกระบวนการผลิตก๊าซฟอสซิล จากนั้นนำไปควบแน่นและอัดกลับลงในชั้นดินใต้พื้นทะเล[6] ซึ่งในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการดักจับและกักเก็บจำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาล รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเล [7]

เยบ ซาโน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งร่วมเดินทางกับเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ในครั้งนี้  กล่าวว่า “สำหรับกลุ่มผู้สนับสนุนให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด พวกเขามีความกังวลเป็นอย่างมากกับการที่ประเทศไทยยังคงพึ่งพาก๊าซฟอสซิล เนื่องด้วยไทยวางตัวเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาค จึงส่งผลต่อนโยบายพลังงานของประเทศเพื่อนบ้าน  แต่วิกฤตโลกเดือดและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพกำลังส่งผลกระทบที่เป็นหายนะต่อสังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การแก้ปัญหาด้วยวิธีดักจับและกักเก็บคาร์บอนคือความผิดพลาดโดยสิ้นเชิงและขยายความไม่เป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศยิ่งขึ้นไปอีก”

ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวปิดท้ายว่า “ระบบนิเวศทะเลและมหาสมุทรโลกอันอุดมสมบูรณ์ของเราซึ่งเผชิญกับแรงกดดันรอบด้านทั้งจากการประมงทำลายล้าง คลื่นความร้อนในทะเล ความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้น และการปนเปื้อนไมโครพลาสติก จะต้องเผชิญกับวิกฤตที่ทบทวีมากขึ้นจากโครงการกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเลนี้”

Rainbow Warrior Ship tour 2024: Ocean Justice ปิดจบลงด้วยกิจกรรมการประท้วงอย่างสันติกลางทะเลอ่าวไทย ตลอดระยะเกือบ 1 เดือน กรีนพีซ ประเทศไทยทำงานร่วมกับภาคประชาชนเพื่อสำรวจระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่ อ.ปะทิว จ. ชุมพร และ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อผลักดันให้มีการจัดทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่นำโดยชุมชนท้องถิ่น ในขณะที่การดักจับและกักเก็บคาร์บอน(carbon capture and storage – CCS) การขุดเจาะก๊าซฟอสซิลนอกชายฝั่ง และการพัฒนาโครงการก๊าซฟอสซิลต่างๆ จะส่งผลต่อความอยู่รอดของพื้นที่เหล่านี้และจะต้องยุติลง

สามารถดาวน์โหลดภาพถ่ายและภาพวิดีโอได้ที่นี่

ข้อเรียกร้องของ กรีนพีซ ประเทศไทย ต่อโครงการ Carbon Capture and Storage ที่แหล่งอาทิตย์

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร กรีนพีซ ประเทศไทย

โทร. 091 770 3523 อีเมล. [email protected]


หมายเหตุ

[1]  แหล่งอาทิตย์(ก๊าซฟอสซิลและก๊าซฟอสซิลเหลว) อยู่ห่างจากชายฝั่งจังหวัดสงขลาราว 230-250 กม. ครอบคลุมแปลงสัมปทาน 5 แปลง(B14A, B15A, B16A, G8/50 และ G9/48) รวมกัน 4,185 ตารางกิโลเมตร แหล่งอาทิตย์ตั้งอยู่ระดับน้ำลึก 262 ฟุต (80 ม.) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เป็นผู้ดำเนินการขุดเจาะ โดยถือหุ้นร้อยละ 80 ร่วมทุนกับ เชฟรอน ประเทศไทย (ร้อยละ16) และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด (MOECO) ประเทศไทย (ร้อยละ4) https://2b1stconsulting.com/pttep-and-chevron-to-call-for-thailand-arthit-field-development/ 

[2] บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปตท.สผ. เป็นบริษัทผลิตน้ำมันและก๊าซที่ดำเนินธุรกิจด้านการสำรวจ พัฒนา และผลิตไฮโดรคาร์บอน นอกจากนี้ยังผลิตก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซฟอสซิลเหลว ปตท.สผ. บริหารจัดการโครงการ ทำการสำรวจแหล่งก๊าซทั่วโลก ให้บริการท่อขนส่งก๊าซฟอสซิลจากโครงการในต่างประเทศ ดำเนินงานครอบคลุมประเทศออสเตรเลีย อเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง และในเอเชีย ปตท.สผ. มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมีบทบาทสำคัญในกลุ่มบริษัท “น้ำมันยักษ์ใหญ่” ได้แก่ เชฟรอน (สหรัฐฯ) TotalEnergies (ฝรั่งเศส) และ POSCO (เกาหลีใต้) ในโครงการก๊าซฟอสซิลนอกชายฝั่งที่สำคัญของเมียนมา บริษัทข้ามชาติเหล่านี้สกัดก๊าซฟอสซิลจากแท่นขุดเจาะนอกชายฝั่งและขนส่งผ่านท่อไปยังประเทศจีนและไทยเป็นหลัก รายได้จากโครงการก๊าซฟอสซิลนอกชายฝั่งของเมียนมาเป็นแหล่งรายได้ต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลทหาร ในปี 2565 ปตท.สผ. เข้าดำเนินการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา ในขณะที่ TotalEnergies และ Chevron Corp ได้ถอนตัวออกเนื่องจากการรัฐประหาร ทั้งนี้ ปตท.สผ. เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่แหล่งมอนทาราในปี 2552 และการทุจริตรับสินบนโยงใยกับโครงการแหล่งก๊าซฟอสซิลอาทิตย์ในปี 2567

[3] โยงกับแผน the Long-term Low Greenhouse Gas Emissions Development Strategy (LT-LEDS) หรือ “Thailand Net Zero Roadmap,” ที่ระบุว่าโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีการติดตั้งระบบดักจับและกักเก็บคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 จากรายงาน Carbon Majors https://carbonmajors.org/Entity/PTTEP ปตท.สผ.จัดอยู่ในอันดับ 96 จากจำนวนกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ก๊าซฟอสซิล ถ่านหินและซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุด 122 แห่งของโลก

[4] แท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ คือแท่นขุดเจาะก๊าซฟอสซิลนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีน้ำหนัก 17,000 ตัน และสถานีแปรรูปก๊าซฟอสซิลเป็นของตัวเอง แท่นผลิตนี้ถูกสร้างขึ้นในเกาะบาทัม อินโดนีเซีย https://www.mcdermott.com/getattachment/72cb9698-fc44-415d-8986-de90bde0f6f0/specsheet ทั้งนี้ปตท.สผ. ริเริ่มโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนแห่งแรกของประเทศไทยที่แหล่งก๊าซแห่งนี้ โดยคาดว่าจะสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 700,000-1,000,000 ตันต่อปี ปตท.สผ. และคาดว่าจะเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ในแหล่งก๊าซฟอสซิลอาทิตย์ได้ในปี 2570 https://www.pttep.com/en/Newsandnmedia/Mediacorner/Pressreleases/Pttep-Initiates-Thailand-First-Ccs-Project-Pushing-Towards-Net-Zero-Green-House-Gas-Emissions.aspx

[5] https://www.ciel.org/reports/deep-trouble-the-risks-of-offshore-carbon-capture-and-storage-november-2023/ 

[6] PTTEP. (2015). Carbon Capture and Storage (CCS) Project (Issue September, pp. 1–6). https://www.pttep.com/en/Sustainability/Carbon-Capture-And-Storage.aspx 

[7] การรั่วไหลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO₂) นอกชายฝั่งอาจเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเคมีของมหาสมุทร คุกคามสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อสิ่งชีวิตในทะเลและสุขภาพของมนุษย์ ดูเพิ่มเติมจาก https://www.sintef.no/en/publications/publication/1941957/ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับสูงสามารถทำลายระบบนิเวศทางทะเลโดยการเปลี่ยนแปลงเคมีของเหลวในตัวปลา และทำให้ความสามารถในการหายใจของปลาลดลง ดูจาก https://doi.org/1However,038/s43247-020-00054-x การเกิดความเป็นกรดของน้ำทะเลอันเป็นผลมาจากความเข้มข้นของไฮโดรเจนไอออนที่เพิ่มขึ้นและการลดลงของไบคาร์บอเนตไอออนเนื่องจากการดูดซับของ CO₂ ที่สูง ดูจาก https://www.ucsusa.org/resources/co2-and-ocean-acidification  การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในมหาสมุทรที่เกิดจากการรั่วไหลของ CO₂ ของโครงการ CCS อาจส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งมีชีวิต เช่น ปะการัง หอย และกลุ่มแพลงก์ตอนพืชที่เฉพาะเจาะจง ผลกระทบของอัตราการกลายเป็นปูนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลง pH ของน้ำอาจรวมถึงระดับการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ที่ลดลง และอัตราการตายที่เพิ่มขึ้น (Dove et al., 2020; London Protocol’s, 2006) “เนื่องจากการปล่อย CO₂ อย่างต่อเนื่อง ดูเพิ่มเติมจาก https://www.noaa.gov/carbon-capture-and-storage-in-sub-seabed-geological-formations และ https://doi.org/1However,038/s43247-020-00054-x

[8] https://climatefinancethai.com/fossil-reckoning-valuation-of-coal-and-gas-stranded-assets-in-thailand/

[9] https://climatefinancethai.com/stranded-midstream-en/