กรุงเทพฯ, 19 มีนาคม 2567 –  รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir  ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และอยู่ในอันดับที่ 36 จาก 134 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าคุณภาพอากาศแย่กว่าปี 2565 ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 57 ของโลก 

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 นี้เป็นรายงานฉบับที่ 6 ซึ่ง IQAir จัดทำขึ้น ซึ่งมีการวิเคราะห์ผลโดยนักวิทยาศาสตร์เพื่อนำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศ PM2.5 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศมากกว่า 30,000 สถานีใน 7,812 พื้นที่ ครอบคลุม 134 ประเทศ และภูมิภาค

ข้อค้นพบหลักรายงานคุณภาพอากาศโลก 2566 

  • 7 ประเทศที่มีคุณภาพอากาศต่ำกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) (ค่าเฉลี่ยรายปี 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ได้แก่ ออสเตรเลีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ กรีนาด้า ไอซ์แลนด์ มอริเชียส และนิวซีแลนด์
  • 5 ประเทศที่คุณภาพอากาศแย่สุดในโลกได้แก่
    • บังคลาเทศ มีปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 15 เท่า
    • ปากีสถาน มีปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 14 เท่า
    • อินเดีย มีปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 10 เท่า
    • ทาจิกิสถาน มีปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 9 เท่า
    • บูร์กินาฟาโซ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 9 เท่า
  • กว่า 124 ประเทศจาก 134 ประเทศและภูมิภาคมีคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปีสูงเกินค่าแนะนำของ WHO

ข้อค้นพบหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • คุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยรายปีพบว่าปี 2566 แย่กว่า ปี 2565 โดยมีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 และใน 5 พื้นที่ที่คุณภาพอากาศแย่ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งในปี 2565 ไม่มีพื้นที่ไหนที่มีค่าเฉลี่ยรายปีสูงเกินนี้
  • สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่กว่าร้อยละ 60 เป็นของภาคประชาชน สถาบันการศึกษา ในขณะที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของหน่วยงานรัฐมีจำนวนน้อยกว่ามาก

ข้อค้นพบหลักในประเทศไทย

  • ประเทศไทยมีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 36 ของโลก และอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปีที่ 23.3ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 4.7 เท่า
  • กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 37 ของเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดของโลก มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี 21.7ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • จังหวัดเชียงราย และ อำเภอปายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของพื้นที่ที่มีฝุ่นพิษ PM2.5 แย่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
  • ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 รายปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในปี 2565 โดยเพิ่มจาก 18.1ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ในปี 2566 เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน เป็นช่วงที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด  โดยจังหวัดเชียงใหม่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 รายเดือนเพิ่มจาก 53.4 เป็น 106.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 150 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายเดือนของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและป่าไม้ กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า

“ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนเป็นวิกฤตสุขภาพที่คุกคามประชาชนในภาคเหนือมาร่วม 20 ปี โดยปี 2566 ที่ผ่านมาประชาชนในภาคเหนือต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นปีที่มีฝุ่นพิษเลวร้ายที่สุด จะเห็นได้จากข้อค้นพบในรายงานที่ระบุว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จังหวัดเชียงราย และ แม่ฮ่องสอน มีตัวเลขค่าเฉลี่ยค่าฝุ่นพิษ PM2.5 รายชั่วโมงพุ่งสูงสุดเกิน 300 AQI และกลายเป็นเมืองที่ติดอันดับมลพิษสูงสุดของโลก 

ข้อมูลจากรายงานของกรีนพีซ ประเทศไทยเผยว่าการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือตัวการสำคัญในการขยายการลุงทุนข้ามแดนและพื้นที่เพาะปลูกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ท้ายที่สุดก็ก่อฝุ่นพิษข้ามแดนกลับมายังไทย รัฐควรเร่งกำหนดให้พ.ร.บ.อากาศสะอาดมีระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานและบังคับใช้กฎหมายที่สามารถเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เชื่อมโยงกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนและการทำลายป่า เพราะนี่คือวิกฤตเร่งด่วนที่รัฐต้องให้ความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน มากกว่าผลกำไรของบริษัทอุตสาหกรรม”

อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า

“ในปี 2566 ที่ผ่านมากรีนพีซ และองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันรณรงค์ผลักดันกฎหมาย PRTR เพื่อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยสารมลพิษจากแหล่งกำเนิด เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันหน่วยงานรัฐยังขาดฐานข้อมูลการปลดปล่อยสารมลพิษ (emission inventory) จึงทำให้การกำหนดนโยบายและแผนบริหารฝุ่นพิษ PM2.5 ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าแหล่งกำเนิดที่แท้จริงมาจากที่ใดบ้าง  และมีปริมาณการปลดปล่อยมลพิษออกมามากน้อยเท่าใด มาตรการของรัฐที่เห็นจึงมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการไฟป่า การเผาของภาคเกษตร และการจราจร ที่ใช้งบประมาณและทรัพยากรจำนวนมาก ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการปล่อยมลพิษกลับถูกละเลยไปทั้ง ๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดที่ปล่อยมลพิษเกือบ 24 ชั่วโมงและตลอดทั้งปี”

จากข้อมูลรายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 แสดงให้เห็นว่าภาครัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษที่ต้นเหตุของแหล่งกำเนิด PM 2.5 อย่างจริงจัง โดยต้องกำหนดนโยบาย งบประมาณ และยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ และต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเหนือกลุ่มทุนอุตสาหกรรม เพราะการเข้าถึงอากาศสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

คุณสามารถมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลด้านคุณภาพอากาศได้ที่นี่

เกี่ยวกับ IQAir

IQAir เป็นบริษัทเทคโนโลยีคุณภาพอากาศในสวิตเซอร์แลนด์ที่ส่งเสริมให้ บุคคล องค์กร และชุมชน ใช้ข้อมูลปรับปรุงคุณภาพอากาศ การทำงานร่วมกัน และเทคโนโลยีการแก้ปัญหา

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย 

โทร. 081 929 5747 อีเมล. [email protected]