4 มีนาคม 2567 นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา –  ครบรอบหนึ่งปี การบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวงในการประชุมสหประชาชาติ สนธิสัญญาดังกล่าวมีการลงชื่ออย่างเป็นทางการโดยตัวแทนรัฐบาล 87 ประเทศทั่วโลกในเดือนกันยายน ปี 2566 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่ให้สัตยาบันสนธิสัญญาและบรรจุเป็นกฎหมายในประเทศ 

แม้จะมีข้อตกลงและลงชื่อกันอย่างเป็นทางการ แต่สนธิสัญญาทะเลหลวง (Intergovernmental Conference on BBNJ) จะยังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะมีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยมหาสมุทร (UN Ocean Conference) ในปี 2568 และต้องมีอย่างน้อย 60 ประเทศให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญานี้ 

ลอร์ลา มุลเลอร์ หัวหน้าโครงการ Protect The Oceans ของกรีนพีซกล่าวว่า 

“ข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวงเมื่อปีที่แล้วเป็นสัญญาณที่บอกว่า ภายในโลกที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การปกป้องระบบนิเวศยังคงสำคัญกว่าการต่อสู้ทางการเมืองและผลประโยชน์ของบริษัท การบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวงถูกประกาศด้วยประโยคที่ว่า ‘เรือได้ถึงฝั่งแล้ว’ แต่หากเรือลำนี้จะสามารถปกป้องมหาสมุทรได้จริง รัฐบาลอย่างน้อยหกสิบประเทศต้องให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาก่อนเวลาจะหมด”

“ปัจจุบันมีเพียงชิลีและปาเลาเท่านั้นที่ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญา ทั้งสองประเทศนี้ได้ส่งสัญญาณว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกันปกป้องสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล แม้จะมีบางประเทศที่เริ่มกระบวนการให้สัตยาบัน แต่ยังถือว่าช้าเกินไป เราหวังว่าพวกเขาจะเดินรอยตามชิลีและปาเลา เพื่อให้เราสามารถเริ่มงานในการปกป้องมหาสมุทรจริงๆเสียที”

ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่ได้มีการลงนามเต็มหรือลงนามจริง (signature) ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความยินยอมเข้าผูกพันตามสนธิสัญญา ที่จะไปสู่การให้สัตยาบัน (rafification) ในขั้นต่อไป แต่ทั้งนี้ เราก็เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะเร่งผลักดันกระบวนการดังกล่าว เราว่าจะได้เห็นประเทศไทยเป็นชาติแรกๆ ในภูมิภาค ที่เป็นผู้นำในการปกป้องมหาสมุทรของโลก โดยขณะนี้ประเทศในอาเซียนที่ได้ลงนามแล้ว ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว”

ทะเลเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตนับล้าน แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญกับทั้งประมงทำลายล้าง มลพิษ อุตสาหกรรมเหมืองทะเลลึก ขณะที่พื้นที่ที่ได้รับการปกป้องกลับมีไม่ถึง 1% 

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature and led by Global Fishing Watch เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาระบุว่า มีข้อมูลเรือประมงพาณิชย์ถึง 75% ที่สาธารณชนไม่สามารถเข้าถึงได้

ขณะที่รายงาน: 30×30 จากสนธิสัญญาทะเลหลวงสู่เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล เผยว่าภัยคุกคามที่เกิดในทะเลหลวงกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2565 มีการทำประมงในทะเลหลวงเพิ่มขึ้นถึง 22.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยระหว่างนี้เรือประมงพาณิชย์ในทะเลหลวงใช้เวลาจับปลารวมกันทั้งหมด 8,487,894 ชั่วโมง

สนธิสัญญาทะเลหลวงจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดของโลก และประเทศต่างๆต้องเร่งให้สัตยาบัน เพื่อเริ่มกระบวนการปกป้องและฟื้นฟูมหาสมุทรทั่วโลก 


ติดต่อ 

ทรงวุฒิ จุลละนันท์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โครงการรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย โทร 097 060 3182 อีเมล [email protected]

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • สนธิสัญญาที่ว่าด้วยการจัดระเบียบการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตอำนาจรัฐ (BBNJ) หรือสนธิสัญญาทะเลหลวง เป็นสนธิสัญญาที่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS)

การลงชื่อในสนธิสัญญา ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญา อย่างไรก็ดี การที่สนธิสัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ รัฐบาลจากอย่างน้อย 60 ประเทศต้องให้สัตยาบันและผ่านเป็นกฎหมายในประเทศ