กรุงเทพฯ, 14 กุมภาพันธ์ 2567 – ตัวแทนจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นรายชื่อประชาชน 12,165 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (ร่างกฎหมาย PRTR) พร้อมมอบป้ายผ้าลายจิ๊กซอว์ที่มีข้อความว่า “สิ่งแวดล้อมจะดีต้องมี PRTR” ให้กับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่สัปปายะสภาสถาน และขอให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พิจารณาผ่านร่างกฎหมาย เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ลายจิ๊กซอว์บนป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “สิ่งแวดล้อมจะดีต้องมี PRTR” เปรียบเสมือนตัวแทนสัญลักษณ์ของภาครัฐและประชาชนที่ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR มาบังคับใช้ในประเทศไทย เพราะกฎหมาย PRTR จะเป็นกลไกเชื่อมความรับรู้ข้อมูลมลพิษให้กับประชาชน ในขณะที่ภาครัฐสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล และกำหนดบทลงโทษกับผู้ที่ก่อมลพิษได้ และเป็นการช่วยภาคเอกชนให้มีระบบการจัดการสารเคมีที่ดีขึ้นและมีระบบการรายงานได้ตามมาตรฐานสากลด้วย

รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน ด้วยการจัดสรรงบประมาณดูแลสุขภาพของประชาชนทุกคน กฎหมาย PRTR คือ สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Community Right-to-Know) ที่กำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หากประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR จะช่วยให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษ ช่วยกันติดตามตรวจสอบ ไปจนถึงจัดการเบื้องต้นกับปัญหามลพิษที่อยู่ใกล้ตัวเองได้

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า
“กฎหมาย PRTR ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เริ่มต้นกันมาตั้งแต่ปี 2535 ส่วนประเทศไทยก็มีการเรียกร้องให้มีกฎหมาย PRTR มากว่า 20 ปีแล้วเพื่อใช้เป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับการแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมและลดอุบัติภัยจากสารเคมี นับจากที่ประเทศไทยดำเนินโครงการนำร่อง PRTR เพื่อแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยองตั้งแต่ปี 2556 ระยะเวลาได้ล่วงเลยมานานสิบปีแล้ว ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่างเห็นว่า ระบบ PRTR จะช่วยแก้ปัญหามลพิษได้ดีและจะทำให้หน่วยงานของภาครัฐกำกับดูแลอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทำไมจนถึงทุกวันนี้กลับยังไม่มีการประกาศออกมาเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ทั่วประเทศสักที”

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า
“หากประเทศไทยเรามีกฎหมาย PRTR จะทำให้เราสามารถใช้กฎหมายในการกำกับดูแลสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันเรายังขาดข้อมูลการปล่อยมลพิษขั้นพื้นฐาน (Emission Inventory) ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะไม่มีข้อมูลพื้นฐานเพื่อนำไปประกอบการบังคับใช้กฎหมาย”

อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า
“การเข้าถึงข้อมูลการปล่อยมลพิษนี้ คือ การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน เพราะการเข้าถึงข้อมูลนี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถช่วยกันติดตาม และตรวจสอบได้ว่ามีแหล่งปล่อยมลพิษอยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ประชาชนจะใช้ในการปกป้องสุขภาพของตนเองและเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี”

เครือข่ายภาคประชาชนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย PRTR เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภา โดยไม่ปัดตกด้วยเหตุผลด้านงบประมาณการเงิน เพราะการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

หมายเหตุ
[1] กฎหมาย PRTR คืออะไร https://www.greenpeace.org/thailand/climate-airpollution-thaiprtr/
[2] ศาลปกครองพิพากษาคดี PM2.5 สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำ PRTR https://www.greenpeace.org/thailand/press/28320/climate-airpollution-pm2-5-lawsuit-consideration/

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย
โทร. 081 929 5747 อีเมล. [email protected]