โซล, เกาหลีใต้, 17 ตุลาคม 2561- ผลการศึกษาร่วมระหว่างศาสตราจารย์ซึง-คยู คิม แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติอินชอน และกรีนพีซ เอเชียตะวันออก[1] ในการสุ่มตัวอย่างและตรวจสอบเกลือสมุทรยี่ห้อต่างๆ จากทั่วโลกพบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ปนเปื้อนพลาสติกขนาดจิ๋วหรือ “ไมโครพลาสติก” โดยพบว่าเกลือจากแหล่งกำเนิดในเอเชียมีปริมาณไมโครพลาสติกสูงสุด

การศึกษาดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ Environmental Science & Technology ที่มีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญโดยได้วิเคราะห์เกลือยี่ห้อต่างๆ จากทั่วโลกจำนวน 39 ชิ้น เผยให้เห็นว่ามีการปนเปื้อนพลาสติกสูงสุดในเกลือทะเล ตามด้วยเกลือจากทะเลสาบ และเกลือหิน  – เป็นตัวชี้วัดระดับมลพิษพลาสติกในพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดเกลือ [2] มีเกลือตัวอย่างเพียง 3 ชิ้นเท่านั้นที่ไม่มีปนเปื้อนไมโครพลาสติก [3]

“การศึกษาล่าสุดพบพลาสติกในอาหารทะเล สัตว์ป่า น้ำประปา และตอนนี้พบในเกลือ  มันชัดเจนว่าเราไม่มีทางหนีจากวิกฤติพลาสติกได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันยังคงรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำและมหาสมุทรของเรา” มีกยอง คิม (Mikyoung Kim) ผู้ประสานงานรณรงค์ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกกล่าว “เราต้องหยุดมลพิษพลาสติกที่แหล่งกำเนิด เพื่อสุขอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของเรา มันสำคัญมากที่ภาคธุรกิจจะลดการพึ่งพาพลาสติกใช้แล้วทิ้งอย่างทันทีทันใด”

สืบต่อจากการศึกษาก่อนหน้าเรื่องมลพิษพลาสติกขนาดเล็กในเกลือ การศึกษาชิ้นนี้เป็นงานชิ้นแรกที่ศึกษาระดับการปนเปื้อนเชิงภูมิศาสตร์ในเกลือสมุทร และความเกี่ยวพันกันระหว่างการปลดปล่อยพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมและระดับมลพิษพลาสติก

การศึกษานี้เน้นย้ำว่าเอเชียเป็นจุดอันตรายระดับโลกเรื่องมลพิษพลาสติก หมายความว่าระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งทะเลในเอเชีย และสุขภาพของผู้คนที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นจะมีความเสี่ยงมากขึ้นอันเนื่องมาจากมลพิษไมโครพลาสติกในทะเลที่รุนแรง นักวิจัยพบว่าตัวอย่างเกลือสมุทรจากประเทศอินโดนีเซียชิ้นหนึ่งมีปริมาณไมโครพลาสติกสูงสุด ประเทศนี้ถูกมองว่าเป็นผู้ทิ้งพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก [4]

การวิจัยระบุว่าหากมีการบริโภคเกลือ 10 กรัมต่อวัน โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้บริโภควัยผู้ใหญ่จะรับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายประมาณ 2,000 ชิ้นต่อปีผ่านเกลือเพียงอย่างเดียว แม้จะลดเกลือที่ปนเปื้อนสูงเช่นเกลือตัวอย่างจากประเทศอินโดนีเซียที่พบในการศึกษานี้ ผู้บริโภควัยผู้ใหญ่ทั่วไปจะยังคงบริโภคไมโครพลาสติกนับร้อยชิ้นต่อปี  [5]“การทดลองหลายชิ้นระบุว่าการบริโภคไมโครพลาสติกผ่านผลิตภัณฑ์จากทะเลของมนุษย์มีความเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับการทิ้งพลาสติกลงสู่ทะเลในพื้นที่ดังกล่าว” ศาสตราจารย์ซึง-คยู ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้กล่าว  “เพื่อจำกัดการรับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย ต้องมีมาตรการเชิงป้องกัน เช่น การควบคุมการทิ้งพลาสติกที่จัดการไม่ถูกต้อง และที่สำคัญยิ่งกว่าคือการลดขยะพลาสติก” เขากล่าวเพิ่มเติม

เมื่อต้นเดือน กรีนพีซร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Break Free From Plastic Coalition) ตีพิมพ์รายงานระบุว่าโคลา-โคล่า, เป็ปซี่โค และเนสท์เล่ เป็นกลุ่มบริษัทที่เป็นเจ้าบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่พบบ่อยที่สุดที่ก่อมลพิษให้กับมหาสมุทรและแม่น้ำลำคลองทั่วโลก [6]

 
 
[1] คิม, จี-ซู และอื่นๆ  (2018) รูปแบบสากลของไมโครพลาสติกในสินค้าอาหาร-เกลือ : เกลือสมุทร ในฐานะตัวชี้วัดมลพิษไมโครพลาสติกในน้ำทะเล. Environmental Science & Technology. DOI: 10.1021/acs.est.8b04180. งานชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิวิจัยแห่งชาติ ประเทศเกาหลีใต้ (NRF)

[2] เกลือตัวอย่าง 39 ชิ้น มีแหล่งกำเนิดจาก 21 ประเทศ/พื้นที่ –ออสเตรเลีย, เบลารุส, บราซิล, บัลแกเรีย, จีนแผ่นดินใหญ่, โครเอเชีย,  ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ฮังการี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, เกาหลี, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, โรมาเนีย, เซเนกัล, ไต้หวัน, ประเทศไทย, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, และเวียดนาม แบ่งตามวัตถุดิบและแหล่งผลิต กลุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากเกลือประกอบด้วยเกลือสมุทร 28 ชิ้น จาก 16 ประเทศ/พื้นที่, เกลือหิน 9 ชิ้น จาก 8 ประเทศ/พื้นที่ และเกลือทะเลสาบ 2 ชิ้น จาก 2 ประเทศ/พื้นที่

[3] มีเกลือตัวอย่างเพียง 3 ยี่ห้อที่ไม่มีชิ้นส่วนของไมโครพลาสติกใดๆ – ไต้หวัน (เกลือสมุทรกลั่นบริสุทธิ์) , จีนแผ่นดินใหญ่ (เกลือหินกลั่นบริสุทธิ์),  ฝรั่งเศส (เกลือทะเลที่ผลิตโดยการระเหยด้วยแสงอาทิตย์) กลุ่มตัวอย่างเกลือที่เหลือล้วนมีชิ้นส่วนของไมโครพลาสติกผสมอยู่

[4] แจมเบค, จูเนียร์. และอื่นๆ  (2015) ของเสียพลาสติกจากแผ่นดินลงสู่มหาสมุทร. Science. Vol. 347, issue 6223, p. 768-771.

[5] ปริมาณไมโครพลาสติกผันแปรตามยี่ห้อของเกลือ และมีปริมาณสูงมากในเกลือที่บริโภคในทวีปเอเชีย  ที่นำมาตรวจสอบทั้งหมดมีไมโครพลาสติกเฉลี่ย 506 ชิ้น/กิโลกรัม รวมทั้งตัวอย่างเกลือจากอินโดนีเซียซึ่งมีปริมาณปนเปื้อนสูง จึงประมาณได้ว่าโดยเฉลี่ยผู้ใหญ่จะบริโภคพลาสติก 2,000 ชิ้นต่อปีผ่านการบริโภคเกลือ

[6] Break Free From Plastic เป็นการเคลื่อนไหวระดับโลกในการสร้างอนาคตที่ปราศจากมลพิษพลาสติก ดูรายงานการตรวจสอบแบรนด์ของกลุ่มได้ที่นี่
ภาพประกอบสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

ติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร. +66 81 929 5747 อีเมล: [email protected]

โต๊ะข่าว กรีนพีซสากล
โทร: +31 (0) 20 718 2470 (ตลอด 24 ชั่วโมง) อีเมล: [email protected]