กรุงเทพฯ, 9 มกราคม 2562 – กรีนพีซแถลงการณ์ยินดีกับการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ที่ปลดใบเหลืองและให้ใบเขียวกับไทย หลังจากมีการปรับนโยบาย สังคายนาการจัดการประมงในระดับประเทศ[1] และในจังหวะเดียวกับที่ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญา C 188 หรืออนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล

     นับเป็นเวลาเกือบ 4 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2558 ที่คณะกรรมาธิการยุโรปให้คำเตือนอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลไทยที่มีความล้มเหลวในการต่อสู้ต่อการทำประมงผิดกฏหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU fishing)

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เรายินดีต่อก้าวสำคัญในการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงไทยของรัฐบาล เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงภาคที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางอ้อมทั้งในและนอกประเทศไทยจะมีความรับผิดชอบต่อไปในการทำงานร่วมกันเพื่อรับประกันว่าประเทศไทยจะส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่วางขายตามชั้นสินค้า อยู่ในตู้แช่ ซูชิบาร์ และผลิตภัณฑ์อาหารแมวทั่วโลก

ในขณะที่มีความก้าวหน้าเกิดขึ้น เราเชื่อว่าการปฏิรูปด้านการประมงของประเทศไทยจะมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อลงมือปฏิบัติการจริง และขจัดการทำประมงที่ล้าสมัยและผิดกฏหมายที่เกิดจากผู้ประกอบการบางรายในอุตสาหกรรมประมงของไทยที่ยังคงใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างเพื่อขูดรีดทรัพยากรในทะเล และเอารัดเอาเปรียบแรงงานบนเรือประมง

กรีนพีซจะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม และต่อกรกับการทำประมงผิดกฏหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU fishing)ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป ในฐานะที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียน เราจะติดตามตรวจสอบกลุ่มผู้ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และทำงานสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนในการปฏิรูปการประมง” [2]

Notes:

[1]  http://www.atimes.com/article/thailand-ratifies-ilo-convention-on-work-in-fishing/ การที่ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทํางานในภาคประมงเป็นการส่งสัญญาณถึงสหภาพยุโรปและประชาคมนานาชาติว่า ประเทศไทยได้ปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงอันเป็นก้าวสำคัญ ต่อการยกเลิกใบเหลืองประมงและผ่อนคลายความเข้มงวดทางการค้าอาหารทะเลกับสหภาพยุโรป

[2]“ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลยั่งยืนและเป็นธรรม” หรือ “The Thai Civil Society’s Coalition for Sustainable and Ethical Seafood” คือเวทีของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและองค์กรภาคประชาสังคมไทยด้านแรงงาน และสิ่งแวดล้อมรวม 14 องค์กร ได้จับมือร่วมทำงานกันในรูปแบบเครือข่าย โดยมีภารกิจในการวิเคราะห์สาเหตุ นำเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ สร้างความตระหนัก รณรงค์และส่งเสริม เพื่อยุติการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรมตลอดกระบวนการผลิต (จากทะเลสู่จานผู้บริโภค) ภาคีเครือข่ายฯต้องการสนับสนุนภาครัฐและเอกชนให้เปลี่ยนแปลงการดำเนินงานด้านนโยบายและการปฎิบัติ เพื่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานและระบบนิเวศทางทะเล รวมทั้งนำเสนอทางออกอย่างมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

English Version Click here


ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พิชามญชุ์ รักรอด กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร. 063 906 4971 อีเมล [email protected]

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม