มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก, 23 พฤศจิกายน 2566 – เมื่อวานนี้ นักกิจกรรมกรีนพีซ สากล เผชิญหน้าอย่างสันติกับเรือสำรวจและขุดเจาะเหมืองใต้ทะเล ที่ดำเนินการโดยบริษัทสำรวจแร่ The Metals Company (TMC) การประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงภัยจากอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ที่จะกระทบกับมหาสมุทรโลก นักกิจกรรมกรีนพีซใช้เรือยาง ที่ปล่อยจากเรืออาร์กติก ซันไรส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือรณรงค์ของกรีนพีซท่ามกลางสายฝน และแล่นไปรอบ ๆ เรือ MV COCO [1] เรือขุดเจาะเหมืองใต้ทะเลโดยเฉพาะ ซึ่งกำลังออกสำรวจพื้นที่และรวบรวมข้อมูลให้กับบริษัท TMC เพื่อขอใบอนุญาตขุดเหมือง โดยนักกิจกรรมกรีนพีซที่เข้าร่วมในครั้งนี้มาจากหลายประเทศ ประกอบไปด้วย เม็กซิโก อาร์เจนตินา นอร์เวย์ เกาหลีใต้ โปแลนด์ และสหราชอาณาจักร นักกิจกรรมพยายามหยุดยั้งการเก็บข้อมูลของเรือสำรวจลำดังกล่าวตลอดทั้งวัน นอกจากนี้พวกเขายังถือป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “Stop Deep Sea Mining”  ที่หมายถึง “หยุดทำเหมืองแร่ใต้ทะเล”

“กรีนพีซ สากล ได้ติดตามอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงนี้ตั้งแต่เริ่มแรกไปจนถึงจุดที่มีการอภิปรายถกเถียง การประท้วงอย่างสันติในครั้งนี้ทำเพื่อปกป้องระบบนิเวศจากการทำลายล้างของอุตสาหกรรม เพราะดูเหมือนว่าบริษัท The Metals Company จะเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และยังคงเพิกเฉยต่อเสียงคัดค้านจากทั่วโลกด้วยการเดินหน้าสำรวจทรัพยากรเพื่อทำเหมืองในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์แห่งสุดท้ายของโลก ดังนั้นเราจึงมาที่นี่เพื่อเรียกร้องให้อุตสาหกรรมที่เสี่ยงอันตรายนี้รู้ว่าการทำเหมืองใต้ทะเลลึกจะไม่มีวันเกิดขึ้นหากยังมีพวกเราคอยจับตาดูอยู่” ลุยซาร์ คาสสัน นักรณรงค์ยุติการทำเหมืองใต้ทะเลลึก กรีนพีซ สากล กล่าว ขณะที่อยู่บนเรืออาร์กติก ซันไรส์

การประท้วงนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปอีกหลายวัน โดยพื้นที่เป้าหมายคือเขตที่เรียกว่า พื้นที่สำหรับสำรวจแหล่งแร่ใต้ทะเล (Clarion Clipperton Zone (CCZ) ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างเม็กซิโกและฮาวาย โดยพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นจุดสำรวจอันดับสุดท้าย ก่อนที่จะดำเนินการยื่นเพื่อขอสัมปทานทำเหมืองแร่กับองค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ (the international seabed) ท่ามกลางความเห็นต่างระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้าน

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ของกรีนพีซตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย หลักสันติวิธี และดำเนินกิจกรรมด้วยนักกิจกรรมที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างเข้มงวด โดยนักกิจกรรมแจ้งให้กัปตันเรือทราบหลายครั้งก่อนจะเริ่มกิจกรรมรณรงค์ด้วยสันติ และติดต่อกับกัปตันเรืออยู่ตลอด ทั้งนี้ เรืออาร์กติก ซันไรส์ จะแล่นอยู่ใกล้ ๆ ในขณะที่เกิดการประท้วงและร่วมเป็นประจักษ์พยานการเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรม

ในเดือนมิถุนายน 2564 บริษัท TMC ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในกฎหมายสากลและพยายามจะยืมมือรัฐบาลในการอนุญาตการทำเหมืองใต้ทะเลลึกมาแล้วครั้งหนึ่ง แม้ว่าการเจรจากับองค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ (ISA) จะล้มเหลวก็ตาม และรัฐบาลก็ยังไม่อนุญาตให้อุตสาหกรรมเข้าไปทำเหมืองได้ แต่ในเดือนกรกฎาคม บริษัท TMC กลับประกาศว่าพวกเขาจะส่งใบขออนุญาตการทำเหมืองใต้ทะเลลึกเพื่อการพาณิชย์ในปีต่อไป ทั้งที่ยังไม่มีระเบียบหรือกฎเกณฑ์สำหรับการทำเหมือง อีกทั้งยังมีประเทศกว่า 24 ประเทศที่ออกมาเรียกร้องให้เลื่อนการอนุญาตออกไปชั่วคราว โดยเม็กซิโกเป็นประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมคัดค้านเมือวันอังคารที่ผ่านมา

“บริษัท The Metals Company พยายามแทรกแซงกระบวนการตามหลักประชาธิปไตยและบีบบังคับให้หลายประเทศต้องยอมรับการทำเหมืองใต้ทะเลลึกในเชิงพาณิชย์ก่อนที่จะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากพอมาประกอบการตัดสินใจ มหาสมุทรทั้งผืนน้ำและพื้นทะเลควรเป็นมรดกส่วนรวมของโลกเพื่อมนุษยชาติและไม่ควรมีกลุ่มอุตสาหกรรมใดเข้าไปแสวงหาทรัพยากรเพื่อผลกำไรส่วนตัวในขณะที่ทำลายระบบนิเวศใต้ทะเลได้” อเล็กซ์ โรเจอร์ ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา มหาวิทยาลัยอ็อกส์ฟอดส์ และผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์โอเชี่ยน เซ็นซัส (Ocean Census) กล่าว


รูปภาพและคลิปวิดีโอสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่

หมายเหตุ

[1] เรือ MV COCO เป็นเรือสำรวจแร่ที่ประกอบไปด้วยยานสำรวจใต้น้ำแบบไร้คนขับที่มีสายบังคับ Remotely Operated Vehicles (ROVs) สามารถดำลงไปลึกในที่ที่มนุษย์ไม่สามารถลงไปถึงได้จำนวน 2 ลำ เข้าพื้นที่มาในบริเวณของ NORI-D เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัท TMC จะสำรวจเป็นบริเวณกว้างหลังจากองค์การพื้นทะเลระหว่างประเทศออกใบอนุญาตให้กับ NORI ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท TMC ที่ได้รับการสนับสนุนโดยประเทศนาอูรู ในแปซิฟิก สัญญาการสำรวจเริ่มตั้งแต่ปี 2554 พื้นที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในสามของพื้นที่การสำรวจในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งควบคุมโดยบริษัท TMC สัญชาติแคนาดา บริษัท TMC เคยทดสอบการขุดเหมืองใต้ทะเลลึกที่นี่มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 70 และเพิ่งกลับมายังท่าเรือไม่กี่ปีก่อนพร้อมกับแร่แมงกานีสโนดูลกว่า 4,500 ตัน

ติดต่อ

Sol Gosetti, Media Coordinator for the Stop Deep Sea Mining campaign, Greenpeace International: [email protected], +54 (0) 1128313271, WhatsApp +44 (0) 7380845754


Greenpeace International Press Desk: [email protected], +31 (0) 20 718 2470 (available 24 hours)

ติดตาม @greenpeacepress เพื่อไม่พลาดข่าวสารล่าสุดจากกรีนพีซ สากล