21 พฤศจิกายน 2566 – ชุมชนประมงจากจะนะ ประเทศไทย เซเนกัล และอินโดนีเซีย ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันประมงโลก ยื่นหนังสือเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชุมชนได้มีสิทธิ์ในการปกป้องคุ้มครองพื้นที่ทะเลของชุมชนตนเอง 

จดหมายโดยตัวแทนชุมชนจากทั้งสามประเทศมีเป้าหมายในการเรียกร้องให้มีการสร้างมาตรฐานการจัดการประมงที่ยั่งยืน และต้องมีการกำกับดูแลโดยทั้งชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม ข้อเรียกร้องนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ ชุมชนทั้งสามยังเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาทะเลหลวง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศทางทะเลในทะเลหลวง

เดสมอน ซันดัก (Desmon Sondakh) ชาวประมงจากหมู่บ้านบูโร เซงกิเฮ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า 

“ทุกวันนี้เราต้องออกทะเลไปไกลเพื่อจับปลา เพราะทะเลใกล้ชายฝั่งถูกคุกคามโดยเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายจนปลาหมดแล้ว รัฐบาลแทบจะไม่ทำอะไรในการควบคุมเครื่องมือพวกนี้เลย ถ้าระบบนิเวศทางทะเลอุดมสมบูรณ์ และพวกเรามีส่วนร่วมในการปกป้องทะเลจากอุตสาหกรรมทำลายล้าง พวกเราจะไม่ได้แค่ปกป้องอนาคตของเกาะแห่งนี้ แต่รวมไปถึงคุณภาพชีวิตของคนรุ่นต่อๆไป”

ไครียะห์ ระหมันยะ นักกิจกรรมจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า

 “ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชุมชนจะนะต่อสู้กับโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่จะคุกคามระบบนิเวศทางทะเลที่พวกเราพึ่งพิงอาศัย แม้พวกเราจะต่อสู้จนโครงการต้องชะลอออกไป แต่พวกเราก็จะยังไม่หยุดจนกว่าทะเลบ้านเราจะปลอดภัยจริงๆ นั่นคือเหตุผลที่เมื่อปีที่แล้ว เราได้ไปร่วมกิจกรรมในนิวยอร์กเพื่อเรียกร้องสนธิสัญญาทะเลหลวง และได้เจอคนที่ต่อสู้เหมือนกันกับเรา ทำให้เราได้รู้ว่าไม่ใช่แค่ทะเลจะนะ แต่ทะเลทั่วโลกกำลังต้องการการปกป้อง และสิ่งหนึ่งที่จะทำได้คือการให้สนธิสัญญาทะเลหลวง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการปกป้องมหาสมุทร อาหาร และชุมชนของเรา” 

ในเซเนกัล ชาวประมง และผู้หญิงในอุตสาหกรรมประมง ไปจนถึงกลุ่มการเมืองและอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ได้ร่วมทำบันทึกข้อตกลงส่งให้กระทรวงประมง โดยระบุปัญหาในการทำประมงและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน  โดยกรีนพีซ แอฟริกาเป็นตัวกลางในการจัดการข้อตกลงและยื่นให้กับผู้ว่าการ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ผู้ลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิปดีลงนามในกฎหมายในการทำประมงอย่างยั่งยืน” 

เอ็นดิอาก้า ซิสเซ่ ชาวประมงจากเซเนกัล กล่าวว่า 

“เราจับตาดูเรือประมงที่ใช้อวนลากซึ่งทำลายทะเลของเรา แต่เราต้องการให้รัฐบาลเข้ามามีบทบ้างบ้าง ชาวประมงในประเทศไทยและอินโดนีเซียก็กำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราต้องเรียกร้องบทบาทในการปกป้องทะเลของเรา ขณะที่รัฐบาลก็ต้องสนับสนุนการปกป้องระบบนิเวศทางทะเลทั้งที่ใกล้ชายฝั่ง และทะเลที่ไกลออกไป และหนึ่งในวิธีคือการให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาทะเลหลวง”