กัวลาลัมเปอร์, 14 พฤศจิกายน 2566– ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ระดับมลพิษทางอากาศเพิ่มสูงขึ้นในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย วันนี้ องค์กรประชาสังคมในภูมิภาคเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนคุ้มครองและยึดมั่นต่อสิทธิการเข้าถึงอากาศสะอาด ด้วยการออกกฎหมายฝุ่นพิษข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) เพื่อเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชน

สัปดาห์การประชุมด้านสภาพภูมิอากาศ (Asia-Pacific Climate Week-APCW 2023) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤศจิกายน ที่เมืองยะโฮร์ มาเลเซีย ถือเป็นวาระสำคัญในประเด็นต่อกรวิกฤตสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights-APHR) ย้ำผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนถึงเจตจำนงในการออกกฎหมายฝุ่นพิษข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) และนำมาปฏิบัติใช้ โดยก่อนหน้านี้แม้จะมีความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) แต่ไม่มีความคืบหน้าใดในการลงมือแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ยิ่งขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคต้องเผชิญกับปรากฏการณ์การสลับขั้วของน้ำอุ่นและน้ำเย็นในมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Dipole) และเอล นิโญ แม้รัฐบาลสิงคโปร์ มาเลเชีย ไทย และอินโดนีเซีย ออกมาเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภัยจากฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่อาจรุนแรงขึ้น ทว่าเพียงแค่คำเตือนนั้นไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มสูงมากขึ้นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้ไฟในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรมีความรุนแรงมากและถี่ขึ้น ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิต ถือเป็นวิกฤตที่คุกคามสุขภาพของผู้คนในภูมิภาค

เมอร์ซี บาเรนดส์ ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights-APHR) กล่าวว่า

“สิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับการปกป้อง ฝุ่นพิษข้ามแดนที่คุกคามสุมาตรา กาลิมันตัน เชียงใหม่ กัวลาลัมเปอร์ และพื้นที่อื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปีนี้เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่าการร่วมมือระดับภูมิภาคนั้นคือสิ่งจำเป็นในการต่อกรกับมลพิษทางอากาศ ผู้นำประเทศและรัฐบาลในทุกประเทศจะต้องผ่านร่างกฎหมายฝุ่นพิษข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) ในแต่ละประเทศ พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงในการปกป้องลมหายใจของทุกคนในภูมิภาค”

เฮง เกีย ชุน นักยุทธศาสตร์การรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับฝุ่นพิษรุนแรงมายาวนานหลายทศวรรษอันเนื่องมาจากการที่สมาชิกประเทศอาเซียนไร้ซึ่งเจตจำนงทางการเมืองในการจัดการฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นในประเทศของตน ฝุ่นพิษนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายต่อหลายรุ่นที่ต้องทนอยู่กับฤดูฝุ่นพิษที่วนเวียนกลับมาทุกปี บ้างก็ต้องต่อสู้กับปัญหาสุขภาพเนื่องจากถูกลิดรอนสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงอากาศสะอาด ความตกลงอาเซียนจะไม่มีความหมายใดเลยหากผู้คนในภูมิภาคต้องทนทุกข์และถูกบังคับให้ทนอยู่กับอากาศพิษ ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องให้ความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชนและลงมือยุติวิกฤตฝุ่นพิษข้ามพรมแดน”

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นพ้องกันว่าจะต้องมีความตกลงร่วมกันและจัดตั้งศูนย์ประสานงานแห่งอาเซียนว่าด้วยการจัดการฝุ่นพิษข้ามพรมแดน หรือ ASEAN Coordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control (ACC THPC) รวมถึงการลงมือปฏิบัติงานอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพร่วมกับ AATHP ซึ่งจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดนสามารถเริ่มจากการปรับมาตรฐานในการติดตาม เฝ้าระวัง และตอบโต้ในสภาวะฉุกเฉิน (Standard Operating Procedures for Monitoring, Evaluation and Joint Emergency Response – SOP MAJER)

การร่วมมือทางการฑูตระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถเกิดขึ้นควบคู่กับกฏหมายที่กำหนดภาระรับผิดของอุตสาหกรรม และกลยุทธ์ที่เข้มแข็งขึ้น ในการต่อกรกับวิกฤตฝุ่นข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นมายาวนาน อาทิเช่น กรณีประเทศมาเลเซีย การร่วมมือทางการฑูตนั้นไม่ควรเป็นข้ออ้างที่ใช้ในการชะลอมาตรการทางกฎหมาย เช่น ร่างกฎหมายฝุ่นพิษข้ามพรมแดน ซึ่งถูกเสนอต่อรัฐบาลมาเลเซียในปี 2562 แต่ถูกปัดตกในเดือนสิงหาคม ปี 2563 ทั้งๆ ที่มี บริษัทสัญชาติมาเลเซียหลายแห่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดไฟป่าในอินโดนีเซีย

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน มีข้อเรียกร้องร่วมกันดังนี้

1. พัฒนากรอบทางกฎหมายระดับภูมิภาคเพื่อทำให้บริษัทอุตสาหกรรมมีภาระรับผิดต่อการเกิดไฟป่าเนื่องจากการดึงน้ำออกจากป่าพรุ และทำลายป่าเพื่อการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งออก(Commodity- driven deforestation) รวมถึงการเผาวัสดุทางการเกษตรของพืชเศรษฐกิจ

2. บังคับให้บริษัทสวนป่าทั้งหมดที่มีพื้นที่สัมปทานในบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟรวมถึงป่าพรุหรือป่าบกเปิดเผยและตีพิมพ์แผนที่ที่ระบุพื้นที่สัมปทานทั้งหมดให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อยกระดับความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน

3.  กำกับดูแลระบบตรวจสอบย้อนกลับในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเกษตร และอาหาร เพื่อระบุถึงต้นทางวัตถุดิบทางเกษตรว่าเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า การเผาเศษวัสดุการเกษตร และการก่อมลพิษข้ามพรมแดนหรือไม่ เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงการก่อฝุ่นพิษตั้งแต่ต้นทาง

4. เห็นชอบต่อดัชนีคุณภาพอากาศเดียวกันเพื่อนำไปใช้ในสมาชิกประเทศอาเซียน รวมถึงติดตามและตรวจสอบมลพิษทางอากาศด้วยการใช้กรอบการทำงานร่วมกันและปฏิบัติตามมาตรการที่วางไว้