มะนิลา, 8 ตุลาคม 2566 ก่อนการรำลึกครบรอบ 10 ปีมหาพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน (ชื่อท้องถิ่นคือโยลันดา) ในฟิลิปปินส์ นักรณรงค์เดินเท้าเพื่อสภาพภูมิอากาศ 12 คนและผู้สนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรด้านสภาพภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชนที่หลากหลายได้ร่วมเดินเท้าอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากกรุงมะนิลาสู่เมืองทาโคลบัน (Tacloban) เพื่อเริ่มต้น Climate Justice Walk 2023 : การเดินทางของผู้คนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ [1] การเดินเท้าครั้งนี้เริ่มจากสวนสาธารณะ Luneta อันเก่าแก่ในกรุงมะนิลาและจะใช้เวลาเดินเท้า 30 วัน เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 คนจากมหาพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน – พายุที่ทรงพลังที่สุดในปี 2556 ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบที่ทำลายล้าง 44 จังหวัดของฟิลิปปินส์ โดยที่เมืองทาโคลบันได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด

Climate Justice Walk ปี 2566 นี้จะย้อนรอยการเดินเท้าเพื่อสภาพภูมิอากาศครั้งแรกในปี 2557 ซึ่งเริ่มจากกิโลเมตรที่ศูนย์ในสวนสาธารณะ Rizal กรุงมะนิลา และสิ้นสุดที่จุดศูนย์กลาง(Ground Zero)ของหายนะภัยจากมหาพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนในเมืองทาโคลบัน การเดินทาง 1,000 กิโลเมตรด้วยการเดินเท้าและปั่นจักรยานจะสิ้นสุดในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันก่อนวันครบรอบ 10 ปีที่เกิดหายนะภัย ในช่วงของการเดินข้ามสะพานซานฮวนนิโกอันโด่งดังระหว่างทางไปทาโคลบัน กลุ่มนักเดินเท้าเพื่อสภาพภูมิอากาศจะพบปะและเยี่ยมเยือนผู้รอดชีวิตจากมหาพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

การเดินเท้าอันมุ่งมั่นนี้เป็นการแสดงอันทรงพลังเพื่อชาวฟิลิปปินส์ 16 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจากการทำลายล้างของมหาพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน และตอกย้ำการเรียกร้องความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ และเรียกร้องให้ผู้นำโลกดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อกู้วิกฤติสภาพภูมิอากาศในนามของกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยง เช่น ฟิลิปปินส์

นาเดเรฟ “เยบ” ซาโน หัวหน้ากลุ่มนักเดินทางเพื่อสภาพภูมิอากาศและผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า 

“มหาพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน หนึ่งในพายุไต้ฝุ่นที่มีกำลังแรงที่สุดที่เคยบันทึกไว้ กลับมาสู่ความทรงจำอีกครั้ง ความมุ่งมั่นระดับโลกที่มีเจตจำนงและสำนึกถือเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วนยิ่งขึ้น เนื่องจากมีผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างรู้สึกกังวลจากผลกระทบของภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ สถิติการสูญเสียคนที่รัก บ้าน และการดำรงชีวิตอันเป็นผลจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวฟิลิปปินส์ปฏิเสธที่จะยอมรับวงจรอันเลวร้ายของการทำลายล้างและการบูรณะความเสียหาย เรายังปฏิเสธที่จะยอมรับว่าเราถูกทำให้เหลือเพียงตัวเลข ดังนั้น จึงเป็นเป้าหมายของเราที่จะเป็นเสียงเตือนให้คนทั้งโลก”

จากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก ตั้งแต่ฝนตกหนักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในลิเบีย กรีซ ฮ่องกง และล่าสุดในเมืองนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงไฟป่าที่ทำลายสถิติเผาผลาญป่าไม้ในแคนาดา รัสเซีย และรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา ความเร่งด่วนของปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศไม่เคยชัดเจนหรือน่าสะพรึงกลัวไปกว่านี้

Climate Justice Walk สนับสนุนกระแสคดีฟ้องร้องด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลก รวมถึงการไต่สวนที่โดดเด่นของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งฟิลิปปินส์ซึ่งพบว่ามีเหตุทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับบริษัทอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลยักษ์ใหญ่และบรรษัทต่างๆ ให้มีภาระรับผิดต่อแบบจำลองธุรกิจที่ทำลายสภาพภูมิอากาศซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน [2] การเดินเท้าเพื่อสภาพภูมิอากาศครั้งนี้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกเพิ่มความทะเยอทะยานในการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก(the Global Stocktake) ระดมทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับกองทุนการสูญเสียและความเสียหาย(the Loss and Damage Fund) ของ UNFCCC และยกระดับการเรียกร้องให้มีการชดเชยด้านสภาพภูมิอากาศ

Joshua Villalobos หัวหน้าโครงการรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศกลุ่ม DAKILA กล่าวว่า:

“DAKILA ยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมายาวนานกับกลุ่มนักรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนทางออกที่ยั่งยืนและเท่าเทียมเพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้เรายังเรียกร้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเห็นการมีภาระรับผิดต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และเปลี่ยนลำดับความสำคัญของเราในการต่อกรกับภาวะฉุกเฉินนี้ แทนที่จะระดมทรัพยากรให้กับกองทุนที่เป็นความลับ เราขอย้ำว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายของเราอยู่เหนือความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น นี่คือประเด็นทางสังคมและการเมืองที่ซับซ้อนซึ่งต้องการการตอบสนองที่ครอบคลุมและรวดเร็ว”

เอียน ริเวรา ผู้ประสานงานระดับชาติของขบวนการฟิลิปปินส์เพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (PMCJ) กล่าวว่า 

“หน้าต่างแห่งโอกาสกำลังปิดลงอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยมนุษยชาติจากผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เป็นหายนะ Climate Justice Walk เตือนให้โลกเห็นถึงความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ของประเทศที่พัฒนาแล้วที่ร่ำรวยให้ลงมือทำด้วยความมุ่งมั่นและเปลี่ยนไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างรวดเร็ว ไม่มีทางออกอื่นใดสำหรับวิกฤตินี้ นอกเหนือไปจากรัฐบาลต่างๆ จะมุ่งไปสู่เส้นทางสู่ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ ประชาธิปไตยและยุติความเหลื่อมล้ำ ความล้มเหลวในการลงมือทำหมายถึงการทำให้ชาวฟิลิปปินส์ตกอยู่ในอันตราย และขยายความอยุติธรรมต่อผู้ที่กำลังเผชิญผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

Rodne Galicha ผู้อำนวยการบริหารของ Living Laudato Si’ กล่าวว่า 

“เราไม่อาจลืมและต้องไม่ลืมสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อน เมื่อธรรมชาติแสดงความโกรธแค้นอันเนื่องมาจากการละเมิดโดยคนผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเพียงไม่กี่คน ผู้คนนับพันเสียชีวิต ผู้คนอีกนับล้านสูญเสียวิถีชีวิตความเป็นอยู่และโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น และจนถึงปัจจุบัน ยังคงไม่อาจหลีกเลี่ยงภัยคุกคามต่อความสูญเสียและความเสียหายที่เพิ่มมากขึ้น เรากำลังส่งสารที่ชัดเจนว่าทุกก้าวที่เดินไปพร้อมกับความเป็นธรรมและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มผู้ที่มีความลุ่มเสี่ยงและเปราะบางที่สุด จะเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญในการลดผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

หลังจาก Climate Justice Walk กิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ จะจัดขึ้นในกรุงมะนิลาและเมืองทาโคลบันโดยกลุ่มสิ่งแวดล้อมและภาคประชาสังคม เพื่อรำลึกถึงผู้รอดชีวิตจากมหาพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน และเพื่อให้ความสำคัญกับวาระด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เรือ Rainbow Warrior เรือธงของกรีนพีซ กำลังเดินทางไปฟิลิปปินส์เพื่อแสดงความสมานฉันท์กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบและเรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ


ดาวน์โหลดรูปภาพและคลิปวิดีโอ

[1] Climate Walk เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2557 เป็นการเดินเท้าสร้างความสมานฉันท์เพื่อชาวเมืองทาโคลบัน ที่ยังคงเผชิญกับผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขึ้นหนึ่งปีหลังจากหายนะจากมหาพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน การเดินเท้าร่วมกันของภาคประชาสังคมและกลุ่มที่มีความศรัทธาต่างๆ นำโดย Naderev “Yeb” Saño ซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะเจรจาของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการประชุมสหประชาชาติเจรจาสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ

กิจกรรม Climate Justice Walk 2023: คาราวานของประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ Bikers United Movement (B.U.M.), DAKILA, FundLife, Greenpeace Southeast Asia, Living Laudato Si, PMCJ และอัครสังฆมณฑลต่างๆ จากมะนิลาถึงเลย์เต

[2] กลุ่มบริษัทที่มีนักลงทุนเป็นเจ้าของ 47 แห่งที่มีชื่ออยู่ในคำร้องของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งฟิลิปปินส์ ได้แก่ BHP Billiton, BP, Chevron, ConocoPhillips, ENI, ExxonMobil, Glencore, OMV, Repsol, Sasol, Shell, Suncor, Total และ RWE กลุ่ม Carbon Majors เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

Media contacts:

Therese Salvador, Communications Coordinator for Greenpeace Southeast Asia

M: +639178228734 E: [email protected]