มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกต่อสุขภาพมนุษย์ที่ร้ายแรงที่สุด และผลกระทบต่ออายุเฉลี่ยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน 6 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีเครื่องมือพื้นฐานที่จะช่วยฟื้นฟูคุณภาพอากาศ

ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพมนุษย์ (Air Quality Life Index: AQLI) ชุดใหม่ชี้ให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นในช่วงปี 2564 ส่งผลให้มนุษย์ต้องแบกรับภาระด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น หากประชาคมโลกสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้ตามเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก อายุขัยเฉลี่ยของประชากรจะเพิ่มขึ้น 2.3 ปี เทียบได้กับการเพิ่มจำนวนปีอายุขัยทั่วโลกรวมกว่า 17.8 พันล้านปี

ข้อมูลชุดนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามลพิษจาก PM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกต่อสุขภาพของมนุษย์ที่รุนแรงที่สุด โดยมีผลกระทบต่ออายุคาดเฉลี่ยเทียบได้กับการสูบบุหรี่ ร้ายแรงกว่าการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้น้ำไม่สะอาด 3 เท่า และรุนแรงกว่าการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุขนส่งอย่างรถชนถึง 5 เท่า ทั่วโลกต่างเผชิญกับความท้าทายของมลพิษทางอากาศที่เหลื่อมล้ำกันอย่างเห็นได้ชัด

ไมเคิล กรีนสโตน ศาสตราจารย์จากมิลตัน ฟรีดแมน ด้านเศรษฐศาสตร์ และเป็นผู้ริเริ่มประเมินดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อชีวิตที่ยืนยาว (AQLI) ร่วมกับเพื่อนร่วมงานจากสถาบันนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า “สามในสี่ของผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มีต่ออายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกเกิดขึ้นใน 6 ประเทศ คือ บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน จีน ไนจีเรีย และอินโดนีเซีย ซึ่งประชากรในประเทศเหล่านี้คาดว่าจะมีอายุเฉลี่ยลดลงกว่าหนึ่งถึงหกปี โดยเป็นผลมาจากอากาศที่พวกเขาหายใจเข้าไป” นอกจากนี้ไมเคิลยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา ข้อมูลคุณภาพอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยในระดับท้องถิ่นของ AQLI กลายเป็นประเด็นที่สื่อและภาครัฐต่างให้ความสนใจ แต่ยังสามารถทำให้ข้อมูลรายปีสมบูรณ์ได้มากกว่านี้ด้วยการเก็บข้อมูลในท้องถิ่นให้ถี่มากขึ้น เช่น การเก็บข้อมูลรายวัน”

ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศที่ได้รับผลกระทบต่างไม่มีโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการกับมลพิษทางอากาศ ภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาเป็นตัวอย่างที่สะท้อนข้อเท็จจริงนี้ได้อย่างชัดเจน มลพิษทางอากาศส่งผลให้จำนวนปีอายุขัยของประชากรในภูมิภาคนี้ลดลงกว่าร้อยละ 92.7 แต่มีรัฐบาลเพียงร้อยละ 6.8 ของประเทศในเอเชีย และร้อยละ 3.7 ของประเทศในแอฟริกาเท่านั้นที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ นอกจากนี้ มีเพียงร้อยละ 35.6 ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย และร้อยละ 4.9 ของประทศในภูมิภาคแอฟริกาเท่านั้นที่มีนโยบายขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างการกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในระดับประเทศ

ข้อมูลจากกองทุนเพื่ออากาศสะอาด (Clean Air Fund) ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนร่วมกันระดับโลกเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับคุณภาพอากาศในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่กำลังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชีวิตของมนุษย์ ในขณะที่กองทุนระดับโลกเพื่อรับมือกับปัญหา HIV/AIDS โรคมาลาเรีย และวัณโรค มีค่าใช้จ่ายประจำปีกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ทั่วโลกยังไม่มีแหล่งทุนสนับสนุนสำหรับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศใดที่เทียบเท่ากับกองทุนเหล่านี้ได้ ไม่นับว่าภูมิภาคแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่ได้รับเงินสนับสนุนเพื่อการจัดการมลพิษทางอากาศจากกองทุนการกุศลน้อยกว่า 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่าราคาเฉลี่ยปัจจุบันของบ้านเดี่ยวในสหรัฐอเมริกา) ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่นอกเหนือจากจีนและอินเดียนั้นได้รับทุนสนับสนุนราว 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนประเทศในภูมิภาคยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ได้รับทุนสนับสนุน คิดเป็น 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

“ข้อมูลคุณภาพอากาศตามเวลาจริงที่น่าเชื่อถือและเข้าถึงได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อความพยายามของภาคประชาสังคมและภาครัฐในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพราะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ประชาชนและรัฐบาลไม่มี และยังช่วยในการกำหนดนโยบายให้มีความรอบด้านมากขึ้น” คริสทา ฮาเซนคอฟ ผู้อำนวยการโครงการจัดทำดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อชีวิตที่ยั่งยืนและคุณภาพอากาศประจำสถาบันนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยชิคาโก (EPIC) กล่าว “โชคดีที่เรามองเห็นโอกาสที่จะพลิกสถานการณ์ที่เป็นอยู่ด้วยการตั้งเป้าหมายให้ดีขึ้นและเพิ่มทุนสนับสนุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เรายังขาดไป”

อ่านรายงานฉบับเต็ม

เอเชียใต้

ไม่มีพื้นที่บริเวณใดที่เห็นผลกระทบเลวร้ายจากมลพิษได้ชัดเจนไปกว่าภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่รวม 4 ประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกไว้ด้วยกันและยังมีจำนวนประชากรกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด ดัชนี คุณภาพอากาศAQLI ในบังกลาเทศ อินเดีย เนปาล และปากีสถาน ชี้ให้เห็นว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรในพื้นที่มีแนวโน้มลดลงกว่า 5 ปี หากระดับมลพิษทางอากาศในพื้นที่แห่งนี้ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อจำนวนปีอายุขัยทั่วโลกที่จะสูญเสียไปจากมลพิษทางอากาศกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนปีอายุขัยทั้งหมด 

ดู สรุปข้อมูลสำคัญของบังกลาเทศ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน

จีน

แม้ว่าความท้าทายในการลดมลพิษทางอากาศทั่วโลกอาจดูน่ากังวล แต่จีนเป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดมลพิษทางอากาศ นับตั้งแต่ปี 2556 จีนสามารถลดมลพิษทางอากาศได้ถึงร้อยละ 42.3 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะมีการประกาศ “สงครามกับมลพิษ” หากจีนสามารถรักษาระดับการลดมลพิษทางอากาศได้เช่นนี้ จะส่งผลให้คนจีนมีอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 2.2 ปี อย่างไรก็ตาม มลพิษทางอากาศในจีนที่ยังคงสูงกว่าเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกถึง 6 เท่า ส่งผลให้อายุคาดเฉลี่ยของคนจีนลดลงไปราว 2.5 ปีดู สรุปข้อมูลสำคัญของจีน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ร้อยละ 99.9 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับระดับมลพิษทางอากาศที่ไม่ปลอดภัยเช่นเดียวกับภูมิภาคเอเชียใต้ มลพิษในบางพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 ภายในเพียงหนึ่งปี ส่งผลให้อายุคาดเฉลี่ยของผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีระดับมลพิษรุนแรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงกว่า 2 ถึง 3 ปี โดยเฉลี่ย

ดู สรุปข้อมูลสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย ไทย

ภูมิภาคแอฟริกากลางและตะวันตก

สื่อมักให้ความสนใจกับระดับมลพิษทางอากาศของประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นอย่างมาก แต่แท้จริงแล้วประเทศในแอฟริกาอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก รวันดา บูรุนดี และสาธารณรัฐคองโก เป็นกลุ่มประเทศจากสิบอันดับของประเทศทั่วโลกที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศร้ายแรงที่สุด ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายนั้น ระดับมลพิษทางอากาศสูงกว่าเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกถึง 12 เท่า ส่งผลให้อายุคาดเฉลี่ยลดลงกว่า 5.4 ปี มลพิษทางอากาศจึงเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่คร่าชีวิตผู้คนในภูมิภาคแห่งนี้เช่นเดียวกับ HIV/AIDS และมาลาเรีย 

ดู สรุปข้อมูลสำคัญของภูมิภาคแอฟริกากลางและตะวันตกและไนจีเรีย

ภูมิภาคละตินอเมริกา

แม้ค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศในภูมิภาคจะอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย แต่ก็นับว่ายังมีระดับมลพิษทางอากาศที่ต่ำ พื้นที่ที่มีมลพิษมากที่สุด ซึ่งอยู่บริเวณกัวเตมาลา โบลิเวีย และเปรู เผชิญกับคุณภาพอากาศคล้ายคลึงกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างเมืองปูเน่ในอินเดีย และเมืองฮาร์บินในจีน ประชากรที่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้จะมีอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 3 ถึง 4.4 ปี หากคุณภาพอากาศเป็นไปตามเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก

ดู สรุปข้อมูลสำคัญของโคลอมเบียและกัวเตมาลา

สหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันเผชิญกับมลพิษจากฝุ่นละอองน้อยกว่าช่วงปี 2513 ถึงร้อยละ 64.9 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีการผ่านกฎหมายอากาศสะอาด ส่งผลให้ชาวอเมริกันมีอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.4 ปี อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 96 ของประเทศยังเผชิญกับคุณภาพอากาศที่สูงกว่าเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกซึ่งกำหนดไว้ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³ )ในปีนี้สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency: EPA) เสนอให้มีการลดค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีระดับประเทศจาก 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  เป็น 9-10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรหากสหรัฐอเมริกาสามารถลดมลพิษทางอากาศได้ถึงระดับข้างต้น จะช่วยให้จำนวนปีอายุขัยรวมเพิ่มขึ้นได้ถึง 3.2 ล้านปี ในปี 2564  จำนวนเมืองในรัฐแคลิฟอร์เนีย 20 เมือง อยู่ในการจัดอันดับ 30 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า 

ดู สรุปข้อมูลสำคัญของสหรัฐอเมริกา

ยุโรป

ประชากรผู้อยู่อาศัยในยุโรปเผชิญกับมลพิษทางอากาศลดลงกว่าร้อยละ 23.5 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2541 นับตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้ข้อปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศ อายุคาดเฉลี่ยของประชากรในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 4.5 เดือน อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 98.4 ของยุโรปยังไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกได้ ในปี 2565 สหภาพยุโรปเสนอให้มีการลดค่ามาตรฐานรายปีจาก 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร µg/m³ เป็น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  ภายในปี 2573  หากสหภาพยุโรปสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ จะเป็นการเพิ่มจำนวนปีอายุขัยรวมได้กว่า 80.3 ล้านปี ทั้งนี้ ประชากรในภูมิภาคยุโรปตะวันออกมีอายุคาดเฉลี่ยน้อยกว่าเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกราว 7.2 เดือน เนื่องจากมีคุณภาพอากาศที่แย่กว่า

ดู สรุปข้อมูลสำคัญของภูมิภาคยุโรป