ปักกิ่ง – ภายในระยะเวลา 6 เดือนแรกของปี 2566 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทั่วประเทศ ซึ่งมีกำลังผลิตรวมอย่างน้อย 50.4 กิกะวัตต์ (GW) ได้รับอนุมัติจากทางการจีน  ด้านรายงานวิจัยฉบับใหม่จากกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ระบุว่ามีการจำกัดการเข้าถึงพลังงานและจำกัดการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งข้อกังวลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้เครื่องมืออื่น ๆ เพื่อเป็นทางออกในการแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ เช่น การใช้ระบบกักเก็บพลังงานที่สามารถขยายเพิ่มขึ้นศักยภาพในขณะที่ถ่านหินยังคงครองสัดส่วนแหล่งพลังงานหลัก

Gao Yuhe หัวหน้างานรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกที่กรุงปักกิ่ง กล่าวว่า “เราเห็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อม ๆ กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกิดขึ้นใหม่ ในขณะนี้ข้อกังวลหลักของเราคือยังมีการกีดกันระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในอนาคต นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั่นคือปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย การเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแต่ไม่พัฒนาระบบกักเก็บพลังงานก็เหมือนกับการสร้างล้อรถแต่ไม่มีเพลารถ และเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านพลังงานไม่ได้มีแค่การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น แต่จะต้องสร้างระบบที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนการกักเก็บพลังงานเหล่านั้นที่ได้มาเพื่อใช้ในช่วงที่มีความต้องการพลังงานสูงอีกด้วย ขณะนี้ระบบการกักเก็บพลังงานกลายเป็นประเด็นที่น่ากังวลสำหรับจีน เพียงแค่การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องออกแบบระบบที่ทำให้รองรับการความต้องการการใช้พลังงานได้ด้วย”

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกรวบรวมเอกสารการอนุมัติโครงการเพื่อนำมาพิจารณาและพบว่า มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 20.45 กิกะวัตต์ ได้รับการอนุมัติเมื่อต้นปี 2566 และภายในไตรมาสสองของปีก็อนุมัติเพิ่มเป็น 50.4 กิกะวัตต์  โดยตลอดช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมามีหลายมณฑลที่อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมากขึ้น รวมทั้งมณฑลเหอเป่ยที่อนุมัติถึง 7.71 กิกะวัตต์ มณฑลเจียงสู 7.3 กิกะวัตต์ มณฑลชานตง 6.68 กิกะวัตต์ มณฑลกว่างตง 6 กิกะวัตต์ และ มณฑลหูเป่ย 5.35 กิกะวัตต์

ผลการศึกษาวิเคราะห์ โดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกที่วิเคราะห์ว่ามณฑลใดบ้างที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านพลังงานผ่านการติดตาม ‘รายนามโครงการสำคัญ’ ของแต่ละมณฑล ซึ่งผลลัพธ์ระบุว่า มีจำนวนโครงการระบบกักเก็บพลังงานในรายนามโครงการของมณฑลกว่างตงช่วงระหว่างปี 2564 – 2566 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 106.3 นอกจากนี้ยังมีมณฑลเจียงสูที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.2 และมณฑลเจ้อเจียงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.6 ผลการวิเคราะห์ฉบับดังกล่าวแนะนำว่ามณฑลกว่างตงและเจียงสูกำลังกลายเป็นศูนย์กลางที่มีศักยภาพของการผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งสถาบันระดับภูมิภาคก็ยังวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในมณฑลเจียงสูกลับได้รับการอนุมัติเพียงร้อยละ 10 จากโครงการทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น โครงการทั้งในกว่างตง และเซี่ยงไฮ้ได้รับอนุมัติน้อยกว่าร้อยละ 4 จากโครงการทั้งหมด

Gao Yuhe กล่าวเสริมว่า “เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าแม้จะมีงบประมาณเพียงพอที่จะทำให้มณฑลเหล่านี้กลายเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานหมุนเวียน แต่ก็ยังไม่มีแนวทางที่แน่ชัดจากรัฐบาลกลาง ทั้งที่ตอนนี้จีนเองสามารถก้าวไปเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ทำให้ตลาดการแข่งขันด้านพลังงานไม่สามารถคาดเดาได้ว่าทิศทางพลังงานในจีนจะเป็นอย่างไรต่อไป ดังนั้น แต่ละมณฑลจะต้องพัฒนาแนวทางที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งแผนพัฒนาแนวทางภาพรวมของจีนโดยรัฐบาลกลางเองด้วย เพราะถ่านหินคือปัญหา แต่เรายังเห็นสัญญาณว่าถ่านหินก็ยังเป็นทางเลือกหนึ่งของแหล่งพลังงาน การแข่งขันด้านพลังงานเริ่มขึ้นแล้วแต่เรายังมีถ่านหินเป็นผู้เล่นร่วมอยู่ในนั้น”

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission) ออกประกาศ ถึงความพยายามที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพให้กับสายส่งพลังงานเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาไฟฟ้าดับ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของระบบพลังงานในจีน

“หากยังคงใช้ถ่านหินต่อไปก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานเพราะการใช้ถ่านหินไม่ได้ส่งเสริมให้ระบบดังกล่าวเกิดขึ้น ระบบกักเก็บพลังงานจะทำให้ระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น สามารถทำงานสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางของกระแสไฟฟ้าจากสายส่งแหล่งอื่น ๆ ได้ แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นไม่ได้มีวิธีการทำงานแบบนั้น เพราะจะต้องใช้เวลาเดินเครื่องให้ร้อนและใช้เวลาหล่อเย็นนานกว่า ไม่สามารถกำหนดต้นทุนและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นตัวเลขที่แน่นอน อีกทั้งยังต้องใช้สายส่งกระแสไฟฟ้าแบบทางเดียวและโรงไฟฟ้าก็ต้องเดินเครื่องอยู่อีกด้วย แม้ว่าบางครั้งอาจมีความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงก็ตาม ดังนั้น ยิ่งมณฑลเหล่านี้พึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่าไร การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานก็ถูกลดทอนเท่านั้น นี่จึงเป็นความเสี่ยงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานในจีนและการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน”

กรีนพีซ เรียกร้องให้จีนหยุดอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ และต้องเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนระบบพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งระบบกักเก็บพลังงานจากแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นเป้าหมายหลักในการเปลี่ยนผ่านพลังงานในจีนตอนนี้

อ่านข้อมูลสรุปจากรายงาน (ภาษาจีนกลาง)

สำหรับสื่อมวลชน ติดต่อ

August Rick, Greenpeace East Asia, Beijing, ([email protected]), +86 175 1040 4599

Greenpeace International Press Desk, [email protected], +31 20 718 2470 (24 hours)