โตเกียว, 22 สิงหาคม 2566 – กรีนพีซ ญี่ปุ่น วิจารณ์การตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประกาศวันเริ่มต้นทิ้งน้ำปนเปื้อนรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

การตัดสินใจของรัฐบาลโดยไม่พิจารณาถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การละเมิดสิทธิมนุษย์ของชุมชนในญี่ปุ่นและภูมิภาคแปซิฟิก และไม่สอดคล้องกับกฎหมายการเดินเรือระหว่างประเทศ และที่สำคัญไปว่านั้นคือการไม่คำนึงถึงความกังวลของประชาชนและชาวประมง ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือเทปโก ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้การยืนยันว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการตัดสินใจทิ้งน้ำปนเปื้อนรังสีออกจากโรงไฟฟ้า เนื่องจากปริมาณน้ำที่ถูกกักเก็บในโรงไฟฟ้าหลายหมื่นตันกำลังเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของแผนการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งถูกทำลายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2554 

ฮิซาโยะ ทาคาดะ ผู้จัดการโครงการรณรรงค์  กรีนพีซญี่ปุ่นกล่าว

“เรารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงสู่มหาสมุทร แม้ว่าจะมีการแสดงความกังวลจากชาวประมง พลเมือง ชาวฟุกุชิมะ และภาคประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแปซิฟิก และประเทศเพื่อนบ้าน การตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังคงเกิดขึ้น”

น้ำปนเปื้อนรังสีที่รอการปล่อยสู่มหาสมุทรกำลังเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของแผนการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ  การปนเปื้อนรังสีในน้ำจะยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายปี เพราะยังไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นและเทปโก อ้างว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีเป็นทางเลือกเดียวสำหรับการบรรลุแผนปลดระวางโรงไฟฟ้าในอนาคต ถึงแม้ว่าการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะหยุดดำเนินการเนื่องจากอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ แต่โรงไฟฟ้ายังมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานความร้อนสำรองตลอดเวลา ดังนั้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงไม่ใช่วิธีการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ทาคาดะ กล่าวเพิ่มเติมว่า

“การปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เป็นผลสืบเนื่องมาจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ปี 2554 ซึ่งถือเป็นแผนการจัดการด้านนิวเคลียร์ที่ยาวนานหลายทศวรรษของญี่ปุ่น แทนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะยอมรับว่าไม่สามารถดำเนินการตามแผนการปลดระวางโรงไฟฟ้าได้ วิกฤตนิวเคลียร์ที่กำลังดำเนินอยู่นี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนสาธารณะเป็นจำนวนมหาศาล แต่รัฐบาลกลับตั้งใจที่จะเดินเครื่องปฎิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่อีกครั้ง แม้ว่าเราได้เห็นความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม นั่นแสดงให้เห็นว่าแผนพลังงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นมีความล้มเหลวในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนที่ปลอดภัยและยั่งยืน เช่นพลังงานลม และแสงอาทิตย์ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการในภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศ”

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำปนเปื้อนรังสีปริมาณ 1,335,381 ลูกบาศก์เมตรถูกเก็บไว้ในถัง (1) แต่เนื่องจากความล้มเหลวของเทคโนโลยีการประมวลผล ALPS (Advanced Liquid Processing System) ทำให้ปริมาณน้ำร้อยละ 70 ของจำนวนน้ำทั้งหมดจะต้องผ่านกระบวนการบำบัดอีกครั้ง นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าน้ำปนเปื้อนรังสีที่กำลังจะถูกปล่อยลงมหาสมุทรยังไม่ได้รับการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ผลกระทบทางชีวภาพของไอโซโทปกัมมันตรังสี  คาร์บอน-14 สตรอนเชียม-90 และไอโอดีน-129 ที่จะถูกปล่อยออกมาพร้อมกับน้ำเสียดังกล่าวก็ไม่ได้มีการประเมินความเสี่ยง(2)

สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) รับรองแผนการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม IAEA มีความล้มเหลวในการตรวจสอบการทำงานของ ALPS ที่ไม่ได้รวมประมวลผลกากกัมมันตรังสีที่มีรังสีสูงที่ปนเปื้อนในน้ำใต้ดินทุกวัน และมีปริมาณ1,000 ลูกบาศก์เมตรทุก ๆ สิบวัน ยิ่งไปกว่านั้น แผนการปล่อยน้ำครั้งนี้ไม่ได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุมตามที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนด เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่า IAEA ไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลของโลกโดยตรง แต่ก็ไม่ควรสนับสนุนให้รัฐละเมิดข้อกำหนดนี้

Shaun Burnie ผู้เชียวชาญอาวุโสด้านนิวเคลียร์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกกล่าวว่า

“มีความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าการปล่อยน้ำปนรังสีลงสู่มหาสมุทรเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแผนการปลดระวางโรงไฟฟ้า แต่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ยอมรับว่าในเมืองฟุกุชิมะไดอิจิมีพื้นที่กักเก็บน้ำอย่างเพียงพอ (3) การกักเก็บน้ำปนเปื้อนรังสีในระยะยาวจะทำให้แผนงานการปลดระวางโรงไฟฟ้าของรัฐบาลปัจจุบันมีข้อบกพร่อง แต่คือนี่สิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดขึ้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ยังคงอยู่ในสถานการณ์วิกฤต ก่อให้เกิดอันตรายที่มีลักษณะเฉพาะและรุนแรง และไม่มีแผนการปลดระวางที่น่าเชื่อถือ”

ประเทศสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในกรุงเจนีวา ตลอดจนผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ได้คัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์แผนการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น (4) การทิ้งน้ำเปื้อนรังสีของญี่ปุ่นนั้นเป็นการเพิกเฉยต่อมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนที่ 48/13 ปี 2564 ที่ระบุว่าการมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืนเป็นสิทธิมนุษยชน (5) นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันทางกฎหมายภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมถึงข้อกำหนดทางกฎหมายในการดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมการทิ้งของเสียลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายข้ามพรมแดนต่อประเทศเพื่อนบ้าน (6)

Burnie กล่าวเพิ่มเติมว่า

“แทนที่รัฐบาลจะมีส่วนร่วมในการอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความเป็นจริงนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นกลับเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาที่ผิดพลาด มลพิษทางรังสีจะอยู่ในมหาสมุทรเป็นเวลาหลายสิบปี ในช่วงเวลาที่มหาสมุทรโลกกำลังเผชิญกับความกดดันอันใหญ่หลวงอยู่แล้ว นี่เป็นความเลวร้ายของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนและชุมชนฟุกุชิมะ และจังหวัดใกล้เคียงอื่น ๆ รวมถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

หมายเหตุ

(1) ปริมาณน้ำ ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2566 – เพิ่มขึ้น 4,437 ลูกบาศก์เมตร นับจากวันที่ 20 เมษายน 2566

(2) หน่วยงานต่อต้านการปล่อยน้ำทิ้ง ได้แก่ สมาคมห้องปฏิบัติการทางทะเลแห่งชาติของสหรัฐฯ (NAML) ซึ่งประกอบด้วยสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลชั้นนำ 100 แห่งในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า “การทิ้งน้ำปนเปื้อนนี้เป็นประเด็นข้ามพรมแดนและข้ามรุ่นที่น่าเป็นห่วงต่อสุขภาพของสัตว์ทะเล และระบบนิเวศ” – ธันวาคม 2565

(3) METI, “คณะอนุกรรมการในการจัดการรายงานน้ำบำบัด ALPS” 10 กุมภาพันธ์ 2563

(4)  https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=27000&LangID=E

(5)สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและดีต่อสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชนสากล 28 กรกฎาคม 2565

(6) “แผนการจัดการของญี่ปุ่นสำหรับน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ” Duncan E.J. Currie และ Shaun Burnie กรกฎาคม 2564

  • การสำรวจปริมาณกัมมันตรังสีของกรีนพีซในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “ฟุกุชิมะ 2554-2563
  • การวิเคราะห์การปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ ดูได้ที่รายงาน “ปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ จากแผน A ถึง Plan-B ตอนนี้ จาก Plan-B ถึง Plan-C และการบรรยายสรุปของ กรีนพีซ “เวลาปลดระวางโรงไฟฟ้าฟุกิชิมะ ไดอิจิ สำหรับแผนยุทธศาตร์ระยะยาว”
  • รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการปล่อยน้ำ ดูได้ที่รายงาน “Stemming the tide 2020: The reality of the Fukushima radioactive water crisis” กรีนพีซ เอเชียตะวันออก ตุลาคม 2356

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย

โทร. 081 929 5747 อีเมล. [email protected]