สกลนคร, 26 กรกฎาคม 2566 – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จังหวัดมุกดาหาร โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมจัดงาน “คำป่าหลาย” จากเหมืองแร่ ทวงคืนผืนป่า สู่วาทกรรม BCG : การปิดล้อมอำนาจของผู้หญิงในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากร ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เพื่อพูดคุยประเด็นสิทธิและความสูญเสียของผู้หญิงในประเด็นการต่อสู้เรื่องที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

นับเป็นเวลากว่า 9 ปี ที่ประชาชน ‘กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย’ ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องที่ดินทำกิน เริ่มตั้งแต่โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินทรายเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง นโนบายทวงคืนผืนป่า และล่าสุดคือโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมขนาดพื้นที่ 121 ไร่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโครงการของเอกชนและนโยบายของรัฐที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนโดยอ้างว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและพลังงานสะอาด

แต่ชาวบ้านในพื้นที่ถูกแย่งยึดที่ดินทำกินไปนับตั้งแต่เหตุรัฐประหาร 2557 และต่อเนื่องมาจนถึงคณะรัฐมนตรีอนุมัติโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว: Bio-Circular-Green Economy)[1]ให้เป็นวาระแห่งชาติเมื่อต้นปี 2564 

ประชาชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายมีข้อกังวลว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG นั้นไม่ได้เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เป็นธรรม และยั่งยืนตามที่ได้อ้างไว้ แต่โมเดลเศรษฐกิจ BCG กลับสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาที่ผิดพลาด ซึ่งนำไปสู่การบังคับขับไล่ชุมชนออกจากที่ดินทำกิน ทำให้ชุมชนท้องถิ่นที่ดำรงชีพด้วยการพึ่งพาผืนดินและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ต้องสูญเสียที่ดินทำกินของตนเองไป โดยรัฐใช้สิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจรวมศูนย์จัดการทรัพยากรและฟอกเขียวให้กับกลุ่มทุน

การต่อสู้เพื่อปกป้องที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เพราะถูกกีดกันจากการเข้าถึงทรัพยากร เนื่องจากนโยบายการรวมศูนย์อำนาจในการจัดการทรัพยากร ทำให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต ต้องออกจากครอบครัวเพื่อไปทำงานรับจ้างนอกพื้นที่ เพราะมีภาระดอกเบี้ยที่จะยังต้องจ่ายอยู่ตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว กลุ่มผู้หญิงจึงลุกขึ้นมาเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิ์ที่ควรจะเป็นของคนส่วนรวม

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายจัดกิจกรรม ‘คืนถิ่นแผ่นดินราษฎร ทวงคืนอำนาจการจัดการทรัพยากรที่ดิน’ ที่บริเวณบ่อน้ำซับคำป่าหลาย จังหวัดมุกดาหารเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งของชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู่ร่วมกันตลอดระยะเวลา 9 ปี ซึ่งชาวบ้านได้มีการประกาศแถลงการณ์ “คืนถิ่นแผ่นดินราษฎร ทวงคืนอำนาจการจัดการทรัพยากรที่ดิน” [2]

ปัจจุบัน โครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมได้รับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าแล้ว ซึ่งชุมชนอยู่ระหว่างการตรวจสอบกระบวนการขั้นตอนซึ่งขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และตรวจสอบกระบวนการทางกฎหมายเนื่องจากคิดว่าอาจจะมีกระบวนการที่ผิดกฎหมายด้วย แต่ก็มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเนื่องจากใช้สิทธิขอข้อมูลข่าวสารจากทางราชการแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเอกสารประกอบการพิจารณาของรัฐมาตรวจสอบตามสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับรัฐ  ขณะที่ชุมชนคำป่าหลายที่นำโดยผู้หญิงยังคงเดินหน้าคัดค้านโครงการที่จะกระทบไม่เพียงแต่ถึงรายได้ สุขภาพ แต่รวมถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนทั้งปัจจุบันและอนาคต 

หมายเหตุ

[1] https://www.bcg.in.th/eng/ 

[2] คำประกาศ “คืนถิ่นแผ่นดินราษฎร ทวงคืนอำนาจการจัดการทรัพยากรที่ดิน”

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ กรีนพีซ ประเทศไทย โทร. 081 929 5747