ในเดือนมีนาคม 2565 ที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) ซึ่งเป็นเวทีการประชุม สหประชาชาติระดับสูงที่สุดในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ได้รับรองข้อมติ “ยุติมลพิษจากพลาสติก : ด้วยมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ” พร้อมจัดตั้ง คณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negitiating Committee on Plastic Pollution) ขึ้นเพื่อเจรจาและจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติกรวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล หรืออีกนัยหนึ่งคือ “สนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty)” [1]

การเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่ง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty)” ดังกล่าวจะมีทั้งหมด 5 ครั้ง โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และเสนอรับรองมาตรการที่เสร็จสมบูรณ์ในการประชุม ผู้แทนรัฐบาลรัฐสมาชิก (Diplomatic Conference) ภายในปี 2568 

จนถึงปัจจุบัน (มิถุนายน 2566) มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม 2565 ที่อุรุกวัย และครั้งที่ 2 วันที่ 28 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2566 ที่ฝรั่งเศส

กรีนพีซ ประเทศไทย ในฐานะองค์กรรณรงค์สิ่งแวดล้อมอิสระที่ทำงานเพื่อยุติมลพิษพลาสติกและกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ มีความเห็นต่อกรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยในการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสนธิสัญญาพลาสติกโลก [2] ดังนี้

  • ต้องตระหนักว่า มลพิษพลาสติกส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คน สิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าและพรรณพืช ตลอดจนเป็นสาเหตุของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษพลาสติกยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ตลอดห่วงโซ่อุปทานและวงจรชีวิตของพลาสติก [3]  ทั้งจากการรับสัมผัสโดยตรง (จากการขุดเจาะ/การขนส่ง การกลั่นและการผลิต การอุปโภคและบริโภค และการจัดการของเสีย) และการรับสัมผัสในสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมเชี้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมพลาสติกและภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายเร็ว (Fast Moving Consumer Goods—FMCGs) ยังคงแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งซึ่งสร้าง “วิกฤตแห่งความสะดวกสบาย” [4] และเล็งเห็นผลกำไรของบริษัทมากกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน ดังนั้น สนธิสัญญาพลาสติกโลกจะต้องมุ่งเน้นการลด ละ เลิก การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซฟอสซิลเพื่อผลิตพลาสติกของผู้ก่อมลพิษพลาสติกรายใหญ่ 
  • แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ใช่การจัดทำสนธิสัญญาใหม่ และยังไม่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ตาม แต่กรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดมาตรการภายใต้สนธิสัญญาพลาสติกโลกที่จะยกร่างสุดท้ายภายในปี 2568 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่กรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยต้องยึดมั่นต่อ การปกป้องสิ่งแวดล้อมและกลุ่มเปราะบางโดยยึดโยงกับหลักการสิทธิมนุษยชน การยุติมลพิษพลาสติกตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก การลดการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกบริสุทธิ์(vergin plastics) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low-carbon) ของเสียเหลือศูนย์ (zero-waste) และไร้สารพิษ (toxic-free) และระบบเศรษฐกิจบนรากฐานของการใช้ซ้ำ (reuse-based economy)

เรามีโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะยุติวิกฤตมลพิษพลาสติก หากสนธิสัญญาพลาสติกโลกมีความเข้มแข็งและมุ่งมั่น การเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งสนธิสัญญาพลาสติกโลกเริ่มขึ้นแล้วในปี 2565 ที่ผ่านมา และไปจนถึงปี 2567 กรีนพีซ ประเทศไทย เชื่อว่า สนธิสัญญาพลาสติกโลกจะรับรองถึงอนาคตที่ปราศจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในอาหารที่เราดื่ม ในอากาศที่เราหายใจ ในสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและรับประกันความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมสำหรับคนรุ่นต่อไป

หมายเหตุ :

[1] การรวบรวมข้อนำเสนอ(Submission)ของรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ตลอดจนแนวร่วมกลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก(AOSIS), สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศในแอฟริกา ต่อเวทีเจรจา พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการเห็นวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาเน้นถึง (ก) การคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์ (ข) การยกเลิกการผลิตและการใช้งานสารอันตรายที่เติมแต่งในพลาสติก (ค) ความจำเป็นในการเลิกใช้สารโพลิเมอร์ที่มีปัญหาและเป็นอันตราย (ง) การออกแบบเพื่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและยุติการปล่อยมลพิษ

[2] 

อ่านเพิ่มเติมถ้อยแถลงของตัวแทนรัฐบาลไทยในการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล ครั้งที่ 1(INC1) ได้ที่ https://apps1.unep.org/resolutions/uploads/thailand_statements.pdf และข้อเสนอต่อการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล ครั้งที่ 2 (INC2) ได้ที่ https://wedocs.unep.org/bitstream/handle/20.500.11822/41833/ThaillandSubmission.pdf?sequence=1&isAllowed=y

[3] https://www.greenpeace.org/international/press-release/21014/new-report-finds-entire-lifecycle-of-plastics-a-threat-to-human-health/ 
[4] ในช่วง Black Friday ปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มสูงขึ้นมาก รวมไปถึงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เกิดจากการใช้ในชีวิตประจำวันได้กระจายไปทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว ไวกว่าการผลิตในรอบ 100 ปี https://youtu.be/4BI1YkPW8xc


ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

พรรณนภา พานิชเจริญ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย

อีเมล: [email protected] โทร. 095 5853471