ในวันที่ 7-8 มิถุนายน 2566 ตัวแทนประเทศจากบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย จะร่วมประชุมอาเซียน (Association of Southeast Asian Nations – ASEAN) ที่สิงคโปร์ ในเรื่องฝุ่นพิษข้ามพรมแดน

ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนประสบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 กว่าหลายสิบปีมานี้ ผู้คนในภูมิภาคอาเซียนเผชิญกับฝุ่นพิษเป็นประจำทุกปี โดยสถานการณ์ฝุ่นข้ามพรมแดนที่รุนแรงในทางตอนเหนือของภูมิภาคนั้นเกิดขึ้นในปี 2558, 2562 และอีกครั้งในปี 2566 ตัวแทนของแต่ละประเทศได้มีมาตรการ และลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรในข้อตกลงอาเซียนด้านฝุ่นพิษข้ามพรมแดนในปี 2545 ในปี 2558 ประเทศในอาเซียนเผชิญวิกฤตฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งสำนักงานอุตุนิยมและภูมิอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์ของอินโดนีเซีย (BMKG) ได้ให้คำอธิบายว่าเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ในขณะที่ปี 2566 ความตกลงและแผนงานของอาเซียนที่มีอยู่ยังไม่สามารถยุติปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนได้ 

ประเด็นหลัก:

  • นอกจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น การทำลายป่าและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนอันเนื่องมาจากไฟไหม้ในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรยังส่งผลให้เกิดวิกฤตสุขภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประชาชนจำนวนมากในภูมิภาคที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรและมีอาการป่วยจากโรคในระบบทางเดินหายใจเนื่องจากใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ฝุ่นพิษเป็นเวลานาน ทั้งที่ความสูญเสียทางสุขภาพเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการลงมืออย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาของรัฐ
  • กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศได้เตือนถึงปรากฎการณ์เอลนีโญที่กลับมาอีกครั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ และคาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นและแล้งขึ้นกว่าปกติ และจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนเลวร้ายขึ้น
  • บทบาทเชิงการกำกับและลงมือปฏิบัติประกอบกับนโยบายที่ไม่เคร่งครัดของอาเซียน เป็นการเอื้อให้อิสระแก่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับปาล์มน้ำมันและอาหารสัตว์ของโลก ซึ่งอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ควรจะเป็นผู้ที่มีภาระรับผิดต่อการก่อฝุ่นพิษในภูมิภาคที่ส่งผลให้ประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนต้องอยู่ในภาวะจำยอม แต่กระนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมนี้กลับไม่มีความผิดประการใดและสามารถดำเนินการประกอบธุรกิจได้ตามเดิม (business as usual) กอบโกยผลประโยชน์ในภูมิภาคที่แลกมาด้วยทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
  • เจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคได้ถูกลดทอนลงด้วยการกล่าวโทษความผิดไปยังประเทศอื่น ยึดถือนโยบาย “ไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศสมาชิก” ที่กลับกลายเป็นการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้ามากกว่าสุขภาวะของประชาชน

ความร่วมมือระหว่างประเทศของผู้นำรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกับกฎหมายที่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการดำเนินธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบ ส่งผลให้เกิดฝุ่นพิษทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกร้องให้ผู้นำประเทศอาเซียน ร่วมกันกำหนดกฎหมายมลพิษข้ามพรมแดนภายในประเทศที่มีการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรระดับอุตสาหกรรม เพื่อกำกับดูแลบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง และเอาผิดไม่ให้สามารถก่อฝุ่นพิษทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. พัฒนาโครงสร้างทางกฏหมายเพื่อเอาผิดธุรกิจและบริษัทที่เชื่อมโยงกับการเผาในพื้นที่ป่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกพืชอุตสาหกรรม หรือการเผาวัสดุทางการเกษตร โครงสร้างทางกฎหมายนี้จะเป็นกรอบให้บริษัทอุตสาหกรรมปฏิบัติตามมาตรการตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงยังส่งเสริมการร่วมมือที่เคร่งครัดขึ้นระหว่างสมาชิกประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนตั้งแต่ต้นทาง  นอกจากนี้ยังต้องกำหนดมาตรการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ รวมถึงยกระดับการลงมือเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพื้นที่จุดความร้อนและการต่อกรกับวิกฤตสุขภาพ
  2. กำหนดให้มีคำสั่งไปยังบริษัทอุตสาหกรรมที่อาจเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า ให้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะถึงแปลงปลูกที่เกี่ยวข้องและรายงานต่อสมาชิกประเทศอาเซียน เพื่อปรับปรุงนโยบายความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานของตน
  3. กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศร่วมกันระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อติดตามและตรวจสอบมลพิษทางอากาศด้วยมาตรฐานร่วมกันและมีปฏิบัติการเพื่อควบคุมให้คุณภาพอากาศในแต่ละประเทศสอดคล้องตามมาตรฐาน โดยสามารถใช้เซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศในราคาย่อมเยาว์ที่มีมาตรฐานได้ เช่น  IQAir ในกรณีที่ในพื้นที่ใดไม่มีเครื่องของภาครัฐ

ประเด็นฝุ่นพิษและการทำงานของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินโดนีเซีย

  • ผืนป่าและป่าพรุของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นทางในการเกิดฝุ่นพิษข้ามพรมแดนนั้น เป็นผลมาจากการที่กลุ่มอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากการที่รัฐขาดมาตรการทางกฎหมายใดๆในการตรวจสอบและควบคุม ในเดือนธันวาคม 2564 กรีนพีซ อินโดนีเซียและภาคประชาสังคมได้รวบรวมรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมธิการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบบริษัทที่ควรมีภาระรับผิดต่อการก่อฝุ่นพิษและเร่งให้วิกฤตสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น รวมถึงเรียกร้องให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ ทั้งในพื้นที่และข้ามพรมแดน
  • ปี 2559 กรีนพีซ อินโดนีเซีย ได้จัดตั้งกลุ่ม Forest Fire Prevention เพื่อดับไฟป่า โดยประกอบด้วยอาสาสมัครและผู้ได้รับผลกระทบจากไฟป่าและฝุ่นพิษ ร่วมกันฝึกฝนเพื่อสู้ไฟในป่าและป่าพรุเพื่อบรรเทาวิกฤตฝุ่นพิษ ทีมดับไฟป่านี้ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานดับไฟป่าของรัฐไปพร้อมๆกับสร้างความตระหนักรู้ในโรงเรียนและชุมชน เพื่อทำความเข้าใจถึงภาระรับผิดของบริษัทอุตสาหกรรมต่อไฟป่า
  • รายงาน ‘Five Years of Fires’ และ ‘Burning Up’ เปิดเผยว่า พื้นที่ 4.4 ล้านเฮคตาร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าประเทศเนเธอร์แลนด์นั้น ถูกเผาไหม้ไปในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งยังเปิดเผยถึงผลกระทบทางสุขภาพอันเนื่องมาจากฝุ่นพิษข้ามพรมแดนในภูมิภาคอาเซียน โดยสาเหตุหลักของฝุ่นพิษในประเทศอินโดนีเซียนั้นมาจากความล้มเหลวของมาตรการทางกฏหมายในการกำหนดภาระรับผิดของอุตสาหกรรมต่อการทำลายผืนป่ามหาศาล และการเผาป่าพรุใกล้เคียงพื้นที่เพาะปลูก

มาเลเซีย

  • ปี 2564 กรีนพีซ มาเลเซีย และภาคประชาสังคม ร่วมกันยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของมาเลเซีย  (Human Rights Commission (SUHAKAM) เพื่อให้ตรวจสอบฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • บริษัทผู้ลงทุนในประเทศอินโดนีเซียนั้นเชื่อมโยงกับบริษัทสัญชาติมาเลเซีย ดังนั้นมาตรการทางกฎหมายที่จะเป็นกรอบให้หน่วยงานต่าง ๆ มีอำนาจในการตรวจสอบบริษัทของมาเลเซียได้ว่าเชื่อมโยงกับการก่อฝุ่นพิษในประเทศที่ลงทุนและข้ามพรมแดนประเทศหรือไม่นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ตัวอย่างคดีความในประเทศอินโดนีเซียต่อบริษัทประเทศมาเลเซียมีดังนี้
  1. 9 สิงหาคม 2565: บริษัทสัญชาติมาเลเซีย TDM แพ้ต่อคดีความในอินโดนีเซีย และถูกศาลสั่งให้จ่ายทั้งสิ้น 275.1 ล้านริงกิตมาเลเซีย กรณีที่สร้างความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับไฟป่าเมื่อปี 2562
  2. 9 สิงหาคม 2565: ศาลสูงสุดของอินโดนีเซียสั่งปรับบริษัทสัญชาติมาเลเซีย Kulim Berhad จำนวน 60 ล้านริงกิตมาเลเซีย ต่อการก่อไฟป่า

ประเทศไทย

  • ฝุ่นพิษเป็นวิกฤตที่คุกคามภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมากว่า 15 ปี โดยเป็นผลจากการสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหรรมเกษตรและเนื้อสัตว์เพื่อการส่งออก วิกฤตฝุ่นพิษที่รุนแรงและยาวนานนำไปสู่กรณีเครือข่ายประชาชนภาคเหนือรวมตัวกันยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์-โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย
  • การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกข้าวโพดในเมียนมาร์และลาวนั้นเชื่อมโยงกับการขยายตัวของการลุงทุนของบริษัทไทยในประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบเกษตรพันธสัญญาระหว่างเกษตรกรและบริษัทของไทยที่ได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาลและความตกลงระหว่างประเทศที่ชื่อว่า ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ประกอบด้วย 5 ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจตามแนวชายแดนโดยเฉพาะ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา 

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย

โทร. 081 929 5747 อีเมล [email protected]