7 มิถุนายน 2566, สิงคโปร์ — ผู้นำจากห้าประเทศในภูมิภาคอาเซียน (Association of Southeast Asian Nations – ASEAN) กำลังประชุมหารือในวันที่ 7-8 มิถุนายน 2566 ในประเด็นปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดน และวางแผนข้อตกลงความร่วมมือระดับภูมิภาค

เฮง เคีย ชุน นักวางแผนกลยุทธ์ระดับภูมิภาค กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า“การประชุมที่จัดขึ้นในสัปดาห์สิ่งแวดล้อมโลกนี้เป็นการย้ำเตือนถึงผู้นำนานาชาติจากประเทศอาเซียนถึงความเร่งด่วนในการต่อกรกับวิกฤตปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนและการทำลายป่าที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายล้านคนในภูมิภาคทุกปี ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 100,300 ราย ในภูมิภาคอาเซียน หลายล้านคนเผชิญกับโรคในระบบทางเดินหายใจเนื่องจากหายใจและใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่นพิษ ทั้งที่ความสูญเสียทางสุขภาพเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการลงมืออย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาของรัฐ

ผู้นำประเทศในภูมิภาคอาเซียนจำเป็นจะต้องละวางความเป็นประเทศและใช้เวลาสองวันนี้เพื่อกำหนดแผนระดับภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนระดับอาเซียนอย่างมุ่งมั่นและจริงจัง เพื่อปกป้องประชาชนและเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อมลพิษเหล่านี้”

วิกฤตสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เอล นิโญ ยิ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ปัญหาฝุ่นพิษทวีตวามรุนแรงขึ้นในปีนี้และปีถัด ๆ ไปเนื่องจากสภาวะอากาศที่ร้อนและแล้ง ดังนั้นเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนจึงมีความสำคัญในการเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างประเทศ และแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่คุกคามภูมิภาค

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปีในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยมายาวนานกว่า 15 ปี รวมถึงในหลายพื้นที่ของเมียนมาและลาวอันเป็นผลมาจากการผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการขยายตัวของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์โดยไร้มาตรการใดๆ ในการควบคุมและเอาผิดต่อบริษัทที่เชื่อมโยงกับผู้ก่อมลพิษ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ประชาชนไทยและในภูมิภาคอาเซียกำลังจับตามองผลลัพธ์ของการประชุมนี้ และหวังว่าจะเป็นแผนการตกลงเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริงเสียที”

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกร้องให้ผู้นำประเทศอาเซียน ร่วมกันกำหนดกฎหมายมลพิษข้ามพรมแดนภายในประเทศที่มีการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรระดับอุตสาหกรรม เพื่อกำกับดูแลบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง และเอาผิดไม่ให้สามารถก่อฝุ่นพิษทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. พัฒนาโครงสร้างทางกฏหมายเพื่อเอาผิดธุรกิจและบริษัทที่เชื่อมโยงกับการเผาในพื้นที่ป่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกพืชอุตสาหกรรม หรือการเผาวัสดุทางการเกษตร โครงสร้างทางกฎหมายนี้จะเป็นกรอบให้บริษัทอุตสาหกรรมปฏิบัติตามมาตรการตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงยังส่งเสริมการร่วมมือที่เคร่งครัดขึ้นระหว่างสมาชิกประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนตั้งแต่ต้นทาง  นอกจากนี้ยังต้องกำหนดมาตรการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ รวมถึงยกระดับการลงมือเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพื้นที่จุดความร้อนและการต่อกรกับวิกฤตสุขภาพ
  2. กำหนดให้มีคำสั่งไปยังบริษัทอุตสาหกรรมที่อาจเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า ให้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะถึงแปลงปลูกที่เกี่ยวข้องและรายงานต่อสมาชิกประเทศอาเซียน เพื่อปรับปรุงนโยบายความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานของตน
  3. กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศร่วมกันระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อติดตามและตรวจสอบมลพิษทางอากาศด้วยมาตรฐานร่วมกันและมีปฏิบัติการเพื่อควบคุมให้คุณภาพอากาศในแต่ละประเทศสอดคล้องตามมาตรฐาน โดยสามารถใช้เซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศในราคาย่อมเยาว์ที่มีมาตรฐานได้ เช่น IQAir ในกรณีที่ในพื้นที่ใดไม่มีเครื่องของภาครัฐ

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย

โทร. 081 929 5747 อีเมล [email protected]