ฝุ่นภาคเหนือมาจากไหน แล้วใครต้องรับผิดชอบ?

กรุงเทพฯ,  23 พฤษภาคม 2566 –  กรีนพีซ ประเทศไทย จัดนิทรรศการ “Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่นควัน” นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวสาเหตุของปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเกือบทุกปี ว่าความจริงแล้วปัญหาฝุ่นมีที่มาอย่างไร ต้นเหตุสำคัญของปัญหาคืออะไร แล้วใครต้องรับผิดชอบ

ช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นพฤษภาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตฝุ่นพิษข้ามพรมแดนบริเวณภาคเหนือตอนบนที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ส่งผลให้ประชาชนกว่า 2 ล้านคนในภาคเหนือตอนบนของไทยประสบกับผลกระทบทางสุขภาพ ทำให้เครือข่ายประชาชนภาคเหนือลุกขึ้นมายื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานศึกษาวิจัยของกรีนพีซ ประเทศไทยพบว่า หนึ่งในเบื้องหลังของปัญหาฝุ่นพิษในพื้นทีอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ภาคเหนือตอนบนของไทย ตอนบนของ สปป.ลาว และ รัฐฉานของเมียนมา) มีความเชื่อมโยงกับการขยายการลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเพื่อผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจาก 1 ใน 3 ของมลพิษอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีที่มาจากพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปลูก ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ และผืนป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลายกลายเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10.6 ล้านไร่ ในช่วงระยะเวลาเพียงห้าปีเท่านั้น จากผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมปี 2558-2563

ภายใต้หมอกควันมลพิษที่ปรากฎ เกษตรกรและชนพื้นเมืองมักถูกมองเป็นจำเลยของสังคม ความไม่เป็นธรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคน ป่า และชุมชน คือ ทิศทางการพัฒนาประเทศที่มักถูกกำหนดขึ้นบนหลักคิดที่รัฐเป็นเจ้าของ เช่น สนับสนุนให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างเช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยนโยบายต่าง ๆ เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรม การมองปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือด้วยการโทษเกษตรกรเพียงฝ่ายเดียว แต่กลับไม่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ต่อผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ดังนั้นการจะแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ ต้องหยุดโทษคนตัวเล็ก และกล้าเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่เชื่อมโยงกับการขยายการลงทุนข้ามพรมแดนของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยนี้ต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองของผู้นำประเทศในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง แต่ตราบใดที่ยังไม่มีกรอบกฎหมายใดรองรับเพื่อกำหนดให้มีภาระรับผิดของบริษัทผู้ก่อมลพิษ อุตสาหกรรมก็ยังหลุดพ้นจากความผิดทางกฎหมายและความรับผิดชอบใดต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจของตน

นิทรรศการ Hazibition นิทรรศการใต้ฝุ่นควัน เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 23-25 มิถุนายน 2566 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 5 วันที่ 23-28 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00-19.00 น.

#เราไม่ทนฝุ่นทุนผูกขาด #FoodRevolution

หมายเหตุ

[1] รายงาน “เติบโตบนความสูญเสีย: ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย”ฉบับเต็มได้ที่ https://act.gp/NotSoAmazingMaize