การผลักดันของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่ง #RightToCleanAir [1] ทำให้กรมควบคุมมลพิษประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ใหม่ที่รวมค่าฝุ่นพิษ PM2.5 ในเดือนตุลาคม 2561 และในที่สุดผลจากการ #ฟ้องทะลุฝุ่น ผ่านศาลปกครอง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกประกาศเรื่อง “กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป” ลงราชกิจจานุเบกษา (ratchakitcha.soc.go.th) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 [2]

หลังจากใช้ค่าเดิมมายาวนานมาตั้งปี 2553 ค่ามาตรฐานใหม่ของฝุ่นพิษ PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปจากนี้ไปคือ (1) ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) หรือค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ (2) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 นี้ ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ล่าสุด กรมควบคุมมลพิษเปิดให้มีการร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง)ประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง ดัชนีคุณภาพอากาศ(Air Quality Index)ของประเทศไทย พ.ศ…. [3] โดยที่ดัชนีคุณภาพอากาศเป็นตัวแทนความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด (PM2.5 PM10 คาร์บอนมอนนอกไซด์ โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์) และเป็นตัวเลขที่ไม่มีหน่วยเพื่อบ่งชี้และเฝ้าระวังคุณภาพอากาศตลอดจนรายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศให้กับประชาชน

กรีนพีซ ประเทศไทย มีความเห็นต่อการเปิดให้มีการร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง)ประกาศกรมควบคุมมลพิษเรื่องดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย ดังนี้

  1. การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวมีให้เลือกระหว่าง “เห็นด้วยโดยไม่มีข้อแก้ไข” และ “เห็นด้วยโดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม” ซึ่งเป็นทางเลือกที่คับแคบ ขัดแย้งกับวิสัยทัศน์ของกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่า “น้ําต้องสะอาด อากาศต้องบริสุทธิ์ หยุดปัญหามลพิษ เพื่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน” และให้ความสําคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกําหนดแนวปฏิบัติในการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการดําเนินงาน [4]
  2. ถึงแม้จะมีความเข้มงวดมากขึ้น แต่หากต้องการยกระดับในการปกป้องสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษควรพิจารณาเปิดรับและปรับ(ร่าง)ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเหนือ (Northern Thailand Air Quality Health Index-NTAQHI) [5] ซึ่งเป็นระบบการรายงานเพื่อสื่อสารความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการได้รับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศสู่ประชาชน รวมทั้ง มีคําแนะนําสําหรับประชาชนทั่วไปหรือกลุ่มเสี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศ ที่ชัดเจนกว่า

หมายเหตุ : 

[1] https://www.greenpeace.org/thailand/story/2166/new-aqi-from-people-power/

[2] https://www.greenpeace.org/thailand/press/23597/climate-airpollution-reactive-draft-pm2-5-ambient-statandard/

[3] https://www.pcd.go.th/laws/2834

[4] https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2023/04/pcdnew-2023-04-26_04-37-07_251125.pdf

[5] https://www.rihes.cmu.ac.th/news/14540

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : ชลธร วงศ์รัศมี Climate Communications Campaigner กรีนพีซ ประเทศไทย อีเมล [email protected]