อินเทอร์ลาเก้น สวิสเซอร์แลนด์, 20 มีนาคม 2566 – ในการปิดฉากสุดท้ายของรายงานการประเมินสภาพภูมิอากาศ คณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) นำเสนอเรื่องราวทั้งหมดของการประเมินครั้งที่ 6 ต่อรัฐบาลทั่วโลก


ครั้งนี้ถือเป็นรายงานที่มีความครอบคลุมของ IPCC ครั้งแรกในรอบ 9 ปี และเป็นรายงานฉบับแรกหลังจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) รายงานสังเคราะห์ดังกล่าวนี้ สรุปใจความสำคัญของรายงานจากคณะทำงาน IPCC ทั้ง 3 ชุด เพื่อฉายภาพความจริงที่น่าวิตก แต่อย่างไรก็ตามโลกของเรายังมีความหวังในการแก้วิกฤตนี้ หากรัฐบาลทั่วโลกลงมือทำอย่างจริงจัง

Kaisa Kosonen ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายกรีนพีซ นอร์ดิก(Greenpeace Nordic) กล่าว “ภัยคุกคามนั้นใหญ่หลวง และโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงก็เช่นเดียวกัน นี่คือช่วงเวลาที่เราจะต้องยืนหยัด ยกระดับและกล้าหาญ และต้องให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ โดยรัฐบาลทั่วโลกต้องหยุดให้คำสัญญาลอยๆ และต้องเริ่มลงมือกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ด้วยความกล้าหาญของทั้งเหล่านักวิทยาศาสตร์ ชุมชน และกลุ่มผู้นำที่ก้าวหน้าทั่วโลก ซึ่งผลักดันอย่างไม่หยุดยั้งในการหาทางออก รวมถึง ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด อาทิ แสงอาทิตย์ ลม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้ เรามีทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นในการหาทางออก จากวิกฤต นี่คือเวลาที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ และยุติผลประโยชน์อุตสาหกรรมเชื้อฟอสซิล”

Reyes Tirado นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากห้องปฏิบัติการวิจัยของกรีนพีซที่มหาวิทยาลัย Exeter กล่าวว่า

“วิทยาศาสตร์ภูมิอากาศเป็นเรื่องของทุกคน และเป็นคู่มือเพื่อความอยู่รอด และการตัดสินใจของเราในวันนี้และอีก 8 ปีในอนาคต จะเป็นตัวกำหนดโลกที่ปลอดภัย ในอีกหลายพันปีข้างหน้า”

ผู้กำหนดนโยบายและผู้นำธุรกิจทั่วโลกมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ว่าจะมุ่งมั่นกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังเพื่อโลกที่ปลอดภัยต่อคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นต่อไป หรือจะเป็นผู้ร้ายที่ส่งต่อมรดกที่เป็นพิษให้กับคนรุ่นลูกหลานในอนาคต”

Tracy Carty ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศโลก กรีนพีซสากล กล่าวว่า “เราจะไม่อยู่เฉย ๆ เพื่อรอปาฏิหาริย์ เพราะมีทางออกทั้งหมดที่จำเป็น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงครึ่งหนึ่งภายในทศวรรษนี้ แต่เราไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ ยกเว้นเสียแต่ว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนเพื่อปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล รัฐบาลทั่วโลกต้องจัดลำดับความสำคัญให้การปลดระวางถ่านหิน น้ำมันและก๊าซฟอสซิลอยู่เป็นอันดับแรก

รัฐบาลทั่วโลกต้องผลักดันให้ผู้ก่อมลพิษต้องจ่ายค่าความเสียหายต่อกลุ่มประเทศ และชุมชนที่มีส่วนน้อยมากในการก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และต้องเริ่มเก็บภาษีลาภลอยจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซฟอสซิลเพื่อสนับสนุนประชาชนในพื้นที่ที่ต้องฟื้นตัวจากความสูญเสียและเสียหาย ข้อเรียกร้องของเราชัดเจน คือยุติการขุดเจาะฟอสซิล และต้องจ่ายชดเชยค่าความเสียหาย”

Li Shuo ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบาย กรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าวว่า

“การวิจัยได้แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า จีนจะต้องยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในทันที และการพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนคู่ขนานไปนั้นยังไม่พอ แต่ต้องมุ่งมั่นไปสู่อนาคตพลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่ ยิ่งลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหินมากขึ้น เราก็ตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เป็นหายนะมากขึ้น (ซึ่งปัจจุบันก็เลวร้ายพอแล้ว) ความเสี่ยงทางการเงินของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นใหม่เป็นสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์วิตกกังวล”

รายงานสังเคราะห์ของ IPCC ย้ำว่า มีทางออกของปัญหามีอยู่แล้ว และนี่คือทศวรรษที่สำคัญของการลงมือทำเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นตามอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นแม้เพียงน้อยนิด รายงานของ IPCC นี้ เปิดความจริงที่เป็นข้อแนะนำทางวิทยาศาสตร์โดยละเอียด เปิดโอกาสอีกครั้งให้รัฐบาลทั่วโลกทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อผู้คนและโลกของเรา

แต่เวลาและโอกาสมีอยู่จำกัด และรายงานสังเคราะห์นี้จะมีกำหนดทิศทางการเมืองด้านสภาพภูมิอากาศต่อจากนี้ไป ขึ้นอยู่กับเหล่าผู้นำโลกที่จะสานต่อ หรือจะเอื้อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศต่อไปอีก การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลกครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่จะมีขึ้นในสหรัฐอาหรับ อิมิเรต จะต้องเน้นถึงรายงานสังเคราะห์ฉบับนี้เพื่อเร่งไปสู่การปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล และขยายระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมไปสู่อนาคตคาร์บอนต่ำ

ทั้งหมดนี้คือข้อสรุปจากรายงานสังเคราะห์ฉบับที่ 6 ของ IPCC


ประเด็นหลักของรายงานคณะทำงาน IPCC ฉบับที่ 6 ชุดที่ 1,2 และ 3 ที่จัดทำโดยกรีนพีซ อ่านเพิ่มเติม

สำหรับสื่อมวลชน

รูปภาพและคลิปวิดีโอเกี่ยวกับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศจากกรีนพีซ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

ติดต่อ : 

Gaby Flores, [email protected], +1 214 454 3871
Greenpeace International Press Desk, [email protected], +31 20 718 2470  (24 hours)