11 มีนาคม 2566, โตเกียว – วันนี้เป็นวันครบรอบ 12 ปีของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่นซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์หายนะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะตามมาซึ่งสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับญี่ปุ่น กรีนพีซ ญี่ปุ่นจึงขอใช้เวลานี้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และออกแถลงการณ์ต่อไปนี้

แซม แอนเนสเลย์ ผู้อำนวยการบริหารของกรีนพีซ ญี่ปุ่น กล่าวว่า

“เราขอใช้เวลานี้เพื่อระลึกถึงผู้คนที่ต้องสูญเสียคนที่รักจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างสุดซึ้ง และขอส่งความห่วงใยของเราไปยังทุก ๆ คนที่ได้รับผลกระทบ ตลอดเวลา 12 ปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้พยายามฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามระบบ แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นกลับมีท่าทีชัดเจนว่าจะนำโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาอีกครั้ง”

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนกลยุทธ์ใหม่ที่ชื่อว่า ‘การเปลี่ยนผ่านสีเขียว’ (Green Transformation) โดยมีรายละเอียดเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์รุ่นต่อไป เช่นเดียวกับแผนการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ที่มีอยู่อีกครั้งและแผนการขยายโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในแผนกลยุทธ์ยังรวมไปถึงการนำพลูโตเนียมกลับมาใช้ใหม่ การรื้อถอนและการกำจัดกากของเสียในขั้นสุดท้ายอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กระบวนการรื้อถอนเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1,2 และ 3 ของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิชิ ซึ่งเป็นเตาที่ถูกหลอมละลาย ยังดำเนินการไม่ได้ [1] การทำงานในพื้นที่เปิดโล่งจึงเสี่ยงต่อการได้รับกัมมันตภาพรังสีที่แผ่ออกมา รวมทั้งยังไม่มีแผนอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับกำจัดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในเตาปฏิกรณ์อีกกว่าหลายร้อยตัน ยิ่งไปกว่านั้น เตาปฏิกรณ์เหล่านี้ยังคงแผ่รังสีสู่สิ่งแวดล้อม โดยในปี 2563 การควบคุมเตาปฏิกรณ์เหล่านี้ทำให้เกิดน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี 140 ตันต่อวัน [2] ดังนั้น ด้วยสถานการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ การประชาสัมพันธ์ถึงแผนพลังงานนิวเคลียร์โดยละเลยความเป็นจริงของวิกฤตที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิก็เปรียบเหมือนการเพิกเฉยต่อประชาชนผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบมาต่อเนื่องยาวนานจากหายนะดังกล่าวตั้งแต่ปี 2554

รัฐบาลญี่ปุ่นยังแก้ปัญหาน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิค เห็นได้จากที่บริษัทเจ้าของโรงงาน Tokyo Electric Power Company (TEPCO) เริ่มปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในปีนี้ แม้ว่าหลายฝ่ายต่างจับตามาตรฐานความปลอดภัยที่ใช้ควบคุมน้ำที่ปล่อยออกมา ซึ่งปัญหาหลักอยู่ที่ไม่ได้มีการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำที่ปนเปื้อน ดังนั้น น้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมจะมีปริมาณรวมกันมหาศาล เนื่องจากคาดว่าการปล่อยน้ำแบบนี้จะเกิดต่อเนื่องยาวนานไปมากกว่าสิบปี

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประเด็นที่น่ากังวลใจในกระบวนการกำหนดมาตรการอย่างยิ่ง (ซึ่งผู้ตัดสินใจมักมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายค้านทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ) และแม้ว่าจะมีการคัดค้านหรือการแสดงความกังวลจากทั้งผู้อยู่อาศัย เกษตรกร ชาวประมง นักชีววิทยาทางทะเล และประเทศเพื่อนบ้านในหมู่เกาะแปซิฟิคกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัท TEPCO กลับให้ความสำคัญกับข้อกังวลของประชาชนไม่มากนัก

ปัจจุบันการหาพลังงานที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนกลายเป็นเป้าประสงค์หลักที่ต้องใส่ใจ อย่างไรก็ตาม การนำประเด็นนี้มาเป็นข้ออ้างเพื่อฟื้นฟูโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่จะกลายเป็นความเสี่ยงและจะกลายเป็นภาระหนักของคนรุ่นต่อไปในอนาคต และแม้ว่าจะมีการทยอยยกเลิกเขตพื้นที่อพยพบางส่วนในฟุกุชิมะ แต่ก็ยังมีพื้นที่อีกหลายส่วนที่ยังไม่ปลอดภัยต่อการอยู่อาศัย สิ่งเหล่านี้อาจแสดงให้เห็นถึงการเมืองที่มุ่งแสวงหาแต่ผลประโยชน์ส่วนตน แต่อุตสาหกรรมพลังงานกำลังกลายเป็นภาคส่วนที่รับความเสี่ยงโดยไม่ได้ยินยอม

แทนที่จะพยายามช่วยอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่ขณะนี้กำลังวิกฤตและยังไม่ได้เป็นพลังงานที่สามารถตอบสนองความต้องการในญี่ปุ่นและไม่ได้ตอบสนองต่อการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลญี่ปุ่นควรจะพัฒนาการเปลี่ยนผ่านพลังงานผ่านระบบพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้อนาคตปลอดภัย และยั่งยืนกว่า อย่างเร่งด่วน


[1] ข้อมูลจากรายงานโดย กรีนพีซ ญี่ปุ่น “Decommissioning of the Fukushima Daiichi Nuclear Power Station From Plan-A to Plan-B Now, from Plan-B to Plan-C” (มีนาคม 2562)

[2] ข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัท TEPCO, Things you should know more about decommissioning

ดาวน์โหลดภาพและคลิปวิดีโอ

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน

Mitsuhisa Kawase, Senior Communications Officer, Greenpeace Japan

[email protected] – +81 (0)70-3195-4165