18 กุมภาพันธ์ 2566, นิวยอร์ก – การเจรจาเพื่อหาข้อสรุปสนธิสัญญาทะเลหลวงจะเริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งหากการประชุมครั้งนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จะทำให้เป้าหมายในการปกป้องพื้นที่ร้อยละ 30 ของมหาสมุทรทั้งหมด ภายในปี 2573 ล้มเหลว 

เป้าหมายดังกล่าวถูกตั้งขึ้นในการประชุม COP15 ในมอนทรีอัล ประเทศแคนาดา ในเดือนธันวาคม 2565 ขณะที่การเจรจาสนธิสัญญาทะเลหลวงครั้งล่าสุด มีความคืบหน้าในการระบุเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ทำให้เริ่มมีความหวังว่าการเจรจาครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะได้ข้อสรุปของสนธิสัญญา หลังเจรจากันมาอย่างยาวนาน

ดร. ลอร่า เมลเลอร์ นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ นอร์ดิก กล่าวว่า 

“มหาสมุทรเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิต แต่ชะตากรรมของมันกลับต้องมาขึ้นอยู่กับการเจรจาสนธิสัญญา การปกป้องมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นความต้องการขั้นต่ำสุดที่จะช่วยทะเลจากภัยพิบัติ ถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลจากหลาย ๆ ประเทศตั้งเป้าหมายในการปกป้องมหาสมุทรให้ได้จากการประชุมครั้งที่แล้ว แต่ถ้ามีแต่เป้าหมายแต่ไม่ลงมือทำอะไรเลยมันก็สูญเปล่า”

“การเจรจาครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่นานหลังการเจรจาก่อนหน้านี้ล่มไป ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ถ้าสนธิสัญญาทะเลหลวงเกิดขึ้นได้จริงภายในวันที่ 3 มีนาคม 2566 มันจะช่วยให้เป้าหมายในการปกป้องพื้นที่ร้อยละ 30 ของมหาสมุทรทั้งหมดยังเป็นไปได้อยู่  รัฐบาลทั่วโลกต้องเข้าร่วมการเจรจาและพร้อมที่จะหาทางออกเพื่อให้สนธิสัญญานี้เกิดให้ได้ การเจรจาครั้งนี้อาจเป็นโอกาสสุดท้าย และพวกเขาต้องไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือไป”

กว่าห้าสิบประเทศแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมในสนธิสัญญาทะเลหลวง แต่กลับล้มเหลวในการเจรจา หลายๆประเทศจากซีกโลกเหนือร่วมตั้งเป้าหมายในการปกป้องทะเล แต่กลับปฏิเสธที่จะประนีประนอมในหลายๆเรื่อง เช่น การเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล (Marine Genetic Resources) จนกระทั่งวันท้ายๆของการประชุม 

ประเด็นที่ยังค้างอยู่คือผลประโยชน์ การแบ่งปันความรู้และการเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลอย่างเท่าเทียม ซึ่งการจะแก้ปัญหานี้ได้ขึ้นอยู่กับความพยายามของประเทศซีกโลกเหนือที่จะสร้างความเท่าเทียมให้กับประเทศจากซีกโลกใต้ 

การสร้างเขตคุ้มครองทางทะเลควรเป็นเป้าหมายหลักของสนธิสัญญา เพื่อให้เป้าหมายใหญ่ในการปกป้องร้อยละ 30 ของมหาสมุทรโลกเป็นไปได้จริง

สนธิสัญญาทะเลหลวงจะช่วยสร้างเขตคุ้มครองทางทะเลในน่านน้ำสากลให้ปราศจากการประมงทำลายล้างและเหมืองทะเลลึก ขณะเดียวกัน ประเทศภาคีในสนธิสัญญาทะเลหลวงต้องมีอำนาจในการจัดการกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อมหาสมุทร เช่น การทำประมงในเขตคุ้มครอง โดยไม่ต้องพึ่งพาองค์กรใด ๆ ที่สนใจเพียงผลประโยชน์ระยะสั้น 

นอกจากนี้ ผลของการประชุมภาคีต้องขึ้นอยู่กับการโหวตเสียงข้างมาก มิใช่คะแนนเอกฉันท์ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งขัดขวางการแก้ไขปัญหา

ประมงขนาดเล็กทั่วโลกและคนรากหญ้าที่พึ่งพิงมหาสมุทรเพื่อประทังชีวิตต้องการการเปลี่ยนแปลง ชุมชนประมงในเคนย่ากำลังดำเนินการฟ้องร้องโรงงานอาหารสัตว์ เหมืองทะเลลึกก็กำลังคุกคามก้นบึ้งของมหาสมุทร สนธิสัญญาทะเลหลวงจะช่วยป้องกันวิกฤตเหล่านี้ได้


ภาพและวิดีโอ

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ 

James Hanson: +44 7801 212 994 / [email protected] 

ทรงวุฒิ จุลละนันท์ +66 97 0603182 / [email protected]