อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์, 13 มกราคม 2566 – จากการวิเคราะห์ล่าสุดโดยกรีนพีซสากล ระบุว่า มีเครื่องบินส่วนตัวกว่า 1,040 ลำขึ้นและลงจอดที่สนามบินที่ให้บริการโดยรีสอร์ทหรูบนเทือกเขาสวิสในดาวอส เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับสัปดาห์การประชุมเพื่อความยั่งยืนระดับโลกอย่าง World Economic Forum ประจำปี 2565 ( 2022 World Economic Forum หรือ WEF) ทำให้ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องบินส่วนตัวในสัปดาห์นั้นสูงขึ้นถึง 4 เท่า

คลารา มาเรีย เชร็ค นักรณรงค์ด้านการคมนาคมของโครงการรณรงค์ด้านยานพาหนะ กรีนพีซ ยูโรเปียน กล่าวว่า “กลุ่มคนร่ำรวยและมีอำนาจรวมตัวเดินทางไปที่ดาวอสเพื่อเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศและความไม่เท่าเทียม แต่กลับใช้วิธีการเดินทางที่ก่อมลพิษมากที่สุดซึ่งก็คือ เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ขณะที่ตอนนี้ยุโรปต้องเจอกับอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้แม้จะเป็นช่วงฤดูหนาวในเดือนมกราคม นอกจากนี้ชุมชนทั่วโลกยังต้องเผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วซึ่งเป็นผลพวงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

จากเที่ยวบินทั้งหมด มีเที่ยวบิน 53% เป็นเที่ยวบินระยะสั้น โดยใช้ระยะทางต่ำกว่า 750 กิโลเมตร ซึ่งสามารถเดินทางด้วยรถไฟหรือรถยนต์แทนได้อย่างไม่ยากลำบาก ยังมีเที่ยวบินอีก 38% ที่ใช้ระยะทางในการบินสั้นมากไม่เกิน 500 กิโลเมตร ข้อมูลยังเปิดเผยอีกว่า ไฟลท์บินที่มีระยะทางสั้นที่สุดที่บันทึกได้มีระยะทางบินเพียง 21 กิโลเมตรเท่านั้น จากที่รายงานวิเคราะห์เผยว่า กลุ่มประเทศที่มีอัตราเที่ยวบินที่มาจอดที่สนามบินดาวอสสูงที่สุดมีประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีรวมอยู่ด้วย

ประเด็นความกังวลเกี่ยวกับการใช้เครื่องบินส่วนตัวกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา หลังจากบุคคลสาธารณะหลายคนถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้เครื่องบินส่วนตัวในทริปการเดินทางระยะสั้น รายงานโดยกรีนพีซสากลนี้ เปิดเผยก่อนที่กลุ่มผู้นำทางการเมืองแต่ละประเทศจะเดินทางไปยังดาวอสเพื่อเข้าร่วมการประชุม 2023 World Economic Forum ด้วยเป้าหมายที่จะประกาศเป้าหมายของแต่ละประเทศในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศรวมทั้งวิกฤตอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และเรียกร้องให้เกิดความกล้าที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหา

เชร็คเสริมว่า “ขณะที่ประชาชนราว 80% ไม่เคยใช้เครื่องบินเลยด้วยซ้ำ แต่พวกเขากลับต้องทนทุกข์จากเหตุการณ์ที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่อุตสาหกรรมการบินมีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น และการประชุม World Economic Forum นี้เองที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ไม่ให้เกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส ดังนั้นวิถีการใช้เครื่องบินส่วนตัวของกลุ่มชนชั้นนำที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เราไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องบินส่วนตัวอีกหากเราต้องการปกป้องโลกนี้เอาไว้เพื่ออนาคตที่เป็นธรรมและปลอดภัยสำหรับทุกคน ดังนั้นเราเรียกร้องให้กลุ่มผู้นำโลกต้องเป็นตัวอย่างในการหยุดใช้เครื่องบินส่วนตัวที่เป็นสิ่งไม่จำเป็นสำหรับการเดินทางในระยะใกล้ ๆ ”

ยังไม่มีการควบคุมการใช้เครื่องบินส่วนตัวในสหภาพยุโรป แม้ว่าการเดินทางในรูปแบบนี้จะเป็นรูปแบบการเดินทางที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลกเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร [2] ปี 2565 เป็นครั้งแรกที่กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป นำโดยฝรั่งเศสที่ออกมาผลักดันให้ยุโรปมีการควบคุมการใช้เครื่องบินส่วนตัว


อ้างอิง

[1] ข้อมูลจากการวิเคราะห์โดย ซีอี เดลฟ์ท (CE Delft) เป็นข้อมูลเครื่องบินส่วนตัวที่บินขึ้นและลงจอดที่สนามบินใกล้กับเดวอส รวมไปถึงสนามบินในซูริค, เจนีวา, อัลเทนไฮน์, ดูเบนดอร์ฟ, ซาเมดาน, ฟรีดริชส์ฮาเฟิน และ ยูโรแอร์พอร์ต สวิส ข้อมูลการบินนี้ได้รับการเปิดเผยโดยบริษัทวิเคราะห์การบิน  Cirium เพื่อหาจำนวนเที่ยวบินในช่วงสัปดาห์การประชุม World Economic Forum 2022 (วันที่ 21-27 พฤษภาคม) นักวิจัยเปรียบเทียบไฟลท์บินในช่วงสัปดาห์การประชุม โดยคำนวนด้วยเครื่องมือ  Eurocontrol Small Emitters Tool

[2] According to a study by Transport & Environment, private jets are 5 to 14 times more polluting than commercial planes (per passenger), and 50 times more polluting than trains. In 2018, 50% of all aviation emissions were caused by only 1% of the world’s population.

[2] จากรายงานที่ศึกษาเกี่ยวกับการคมนาคมและสิ่งแวดล้อม พบว่าเครื่องบินส่วนตัวก่อมลพิษมากกว่าเครื่องบินพาณิชย์ 5-14 เท่า (ต่อผู้โดยสารหนึ่งคน) และก่อมลพิษมากกว่ารถไฟกว่า 50 เท่า ในปี 2561 มีข้อมูลระบุว่ามลพิษที่ถูกปล่อยจากภาคการบินกว่า 50% เกิดจากกลุ่มประชากรโลกเพียง 1% เท่านั้น

ติดต่อ

Klara Schenk, transport campaigner, Greenpeace CEE, spokesperson for Greenpeace’s EU Mobility For All Campaign: [email protected], +43 664 881 72267

Marianne Lämmel, Communications Lead, Greenpeace CEE, EU Mobility For All campaign: [email protected], +43 664 881 72 245 

ติดตาม @greenpeacepress ในช่องทางทวิตเตอร์ เพื่ออัพเดทข่าวสารล่าสุดจากกรีนพีซ สากล หรือติดตาม @greenpeaceth ในช่องทางทวิตเตอร์ เพื่ออัพเดทข่าวสารจาก กรีนพีซ ประเทศไทย