ฮัมบูร์ก เยอรมนี – รายงานฉบับใหม่ของ กรีนพีซ เยอรมนี เปิดเผยถึงการพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์แบรนด์ฟาสต์แฟชั่น SHEIN [1] โดยทดสอบผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ SHEIN ทั้งหมด 47 ชิ้น และพบการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ 7 ชิ้น (คิดเป็น 15%) ซึ่งการพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์นี้ผิดเงื่อนไขการจำกัดปริมาณสารเคมีของสหภาพยุโรป มีผลิตภัณฑ์ 5 ชิ้นจากทั้งหมดผิดเงื่อนไข โดยปนเปื้อนเกิน 100% หรือมากกว่านั้น และยังมีผลิตภัณฑ์ 15 ชิ้นจากทั้งหมดปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในระดับที่น่าเป็นห่วง (คิดเป็น 32%) [2]

Laboratory Tests of SHEIN Textiles.
กรีนพีซได้ส่งเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับที่ซื้อจากแบรนด์ SHEIN ไปยังสถาบัน Bremen Environmental Institute (Gesellschaft für Schadstoffanalysen und Begutachtung mbH) เพื่อนำไปเป็นตัวอย่างในการทดสอบและวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมี เช่น สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) เป็นต้น

กรีนพีซ เยอรมนี ซื้อผลิตภัณฑ์มาทั้งหมด 42 ชิ้น ประกอบไปด้วยเครื่องแต่งกาย รองเท้า ทั้งสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และผลิตภัณฑ์สำหรับทารกจากเว็บไซต์ SHEIN ในหลายแห่ง ได้แก่ ออสเตรีย เยอรมนี อิตาลี สเปน และสวิสเซอร์แลนด์ อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์  5 ชิ้นจากร้านขนาดเล็กในเมืองมิวนิก เยอรมนี ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการอิสระ BUI เพื่อตรวจวิเคราะห์สารเคมีปนเปื้อน ซึ่งผลการวิเคราะห์พบสารพาทาเลทในรองเท้า และสารฟอมาลดีไฮน์ในชุดแต่งกายของเด็กผู้หญิงในปริมาณสูง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าการทำธุรกิจของแบรนด์ SHEIN ที่ใช้สารเคมีอันตรายแสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่ไม่ระมัดระวังต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของลูกค้า ยิ่งไปกว่านั้น รายงานฉบับนี้ยังพบอีกว่าการดำเนินการจากบริษัทสาขาใหญ่ที่ตั้งอยู่ในนานกิง จีน ได้ละเมิดเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปในประเด็นการใช้สารเคมีอันตรายทำให้ผลิตภัณฑ์ปนเปื้อน เสี่ยงต่อสุขภาพของผู้สวมใส่และพนักงานที่ต้องทำงานกับผลิตภัณฑ์

วิโอลา โวลเกมุธ นักรณรงค์ด้านสารพิษและเศรษฐกิจยั่งยืน กรีนพีซ เยอรมนี กล่าวว่า

“สิ่งที่กรีนพีซ เยอรมนี พบคือการที่แบรนด์ฟาสต์แฟชั่น SHEIN ใช้สารเคมีอันตรายในการผลิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับนโยบายพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้ยั่งยืนขึ้นในอนาคต ผลิตภัณฑ์ของ SHEIN ปริมาณมหาศาลที่ปนเปื้อนสารเคมีนี้กระจายสู่ตลาดสหภาพยุโรปและเป็นการละเมิดเงื่อนไขสหภาพฯ อย่างไรก็ตามเงื่อนไขดังกล่าวยังไม่ประกาศใช้ในสหภาพฯ นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลถึงพนักงานที่ทำงานในห่วงโซ่การผลิตให้กับ SHEIN ชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานผลิตและสิ่งแวดล้อมในจีน ซึ่งต้องเผชิญกับสารเคมีอันตรายที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ดังกล่าว รูปแบบการทำธุรกิจแบบฟาสต์แฟชั่นนี้เป็นรูปแบบที่ขัดกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศโดยสิ้นเชิง และจะต้องใช้กฎหมายเพื่อหยุดการทำธุรกิจในรูปแบบนี้เนื่องจากก่อให้เกิดหายนะทางสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศมากเกินไป และเราควรปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการบริโภคจากการซื้อใหม่เป็นหลักมาเป็น การใช้ซ้ำและซ่อมแซมเป็นหลัก”

ช่วงระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ธุรกิจของ SHEIN เติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการทำการตลาดด้วยดีไซน์เสื้อผ้านับพันรูปแบบกับกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มเด็ก ผ่านโซเชียลมีเดียทุก ๆ วัน ดังนั้นการผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้ต้องผลิตในปริมาณมหาศาลภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ซึ่งเสื้อผ้ามหาศาลเหล่านี้ถูกผลิตจากหลายโรงงานในจีน นอกจากนี้ยังมีโมเดลการขายแบบตัดราคาคู่แข่งด้วยการผลิตที่เร็ว ต้นทุนต่ำ คุณภาพต่ำและเป็นสินค้าที่ใช้แล้วทิ้ง [3] นี่คือโมเดลการผลิตเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นแบบสุดโต่งนำไปสู่ปัญหาขยะสิ่งทอ นอกจากนี้ภายใต้โมเดลธุรกิจดังกล่าวยังมีรายงานว่าพบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่การผลิตหลายครั้งด้วย

ในกฎข้อบังคับของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์นำเข้าถูกเขียนขึ้นอย่างเข้มงวด โดยจำกัดปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าประเภทต่าง ๆ เครื่องประดับ และรองเท้า ตามหลักการ REACH ที่จะนำเข้ามาขายในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามข้อกำหนดดังกล่าวก็ยังมีช่องโหว่ เพราะไม่ได้รวมผลิตภัณฑ์นำเข้าอื่นๆ ให้อยู่ในเงื่อนไขนี้ด้วย แต่ช่องโหว่นี้ก็ยุติลงหลังการรณรงค์ Detox My Fashion ของกรีนพีซเปิดเผยว่าสารเคมีอันตรายในโรงงานผู้ผลิตเสื้อผ้าในประเทศกำลังพัฒนาก่อมลพิษทางน้ำในยุโรปได้อย่างไร [4] โดยสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ายังเป็นอุปสรรคสำคัญในการรีไซเคิลสิ่งทออีกด้วย

“กรีนพีซเรียกร้องให้สหภาพยุโรปบังคับใช้กฎหมายควบคุมการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งควรจะเป็นข้อบังคับพื้นฐานสำหรับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในการผลิตสิ่งทอและจะต้องยุติโมเดลธุรกิจฟาสต์แฟชั่น ดังที่ยุทธศาสตร์สิ่งทอของสหภาพยุโรปได้กำหนดไว้” วิโอลากล่าว “แต่ข้อเสนอของสหภาพยุโรปยังคงเพิกเฉยต่อการแสวงหาผลกำไรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและขาดหลักมนุษยธรรมของโมเดลธุรกิจฟาสต์ฟชั่นแบบสุดโต่ง ซึ่งโมเดลดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมในยุคศตวรรษที่ 21 แต่จะต้องกำหนดให้บริษัทเหล่านี้ต้องดำเนินธุรกิจโดยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบจากขยะแฟชั่นอีกด้วย สิ่งที่เราเรียกร้องยังจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนผ่านสนธิสัญญาระดับโลก ซึ่งคล้ายกับสนธิสัญญาพลาสติกโลกเพื่อหารือกันในการจัดการปัญหาขยะสิ่งทอที่เกิดขึ้น”

นอกจากนี้ โมเดลการทำธุรกิจแบบฟาสต์แฟชั่นยังใช้น้ำมันในระบบการผลิตเสื้อผ้าจำนวนมาก ด้วยเงื่อนไขความเร็วที่ต้องนำจ่ายสู่ตลาด และยังมีประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อม จากแหล่งข้อมูลของอุตสาหกรรมพบว่ามีสิ่งทอน้อยกว่า 1% ที่ได้รับการผลิตซ้ำจากสิ่งทอเก่า ในทางกลับกันขยะสิ่งทอปริมาณมหาศาลถูกขนขึ้นรถบรรทุกเพื่อนำไปทิ้งที่บ่อขยะทุกวินาที [5] เราจะเห็นปัญหานี้ได้ชัดจากปริมาณขยะสิ่งทอมหาศาลที่ก่อให้เกิดมลพิษถูกส่งไปยังแอฟริกาตะวันออกและประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ตามข้อมูลที่ปรากฎในรายงานของกรีนพีซเยอรมนี

โมเดลธุรกิจฟาสต์แฟชั่นสุดโต่งนี้บังคับให้ซัพพลายเออร์ต้องผลิตสินค้าออกมาให้เร็วขึ้น โดยการสั่งสินค้าซ้ำๆ ซึ่งมียอดสั่งผลิตซ้ำเร็วกว่าแบรนด์คู่แข่งอย่าง Zara ถึง 3 เท่า รวมทั้งยังมีการขนส่งโดยตรงถึงมือลูกค้าด้วยเครื่องบินไปทั่วโลก [1][6] กรีนพีซ เยอรมนี ยังเปิดเผยในรายงานฉบับนี้อีกว่าโมเดลธุรกิจของ SHEIN ยังขาดมาตรการเกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัยของพนักงานในระบบการผลิตและลูกค้า


ดาวน์โหลดรูปภาพที่เกี่ยวข้อง ที่นี่

หมายเหตุ

[1] รายงาน Taking the Shine off SHEIN: A business model based on hazardous chemicals and environmental destruction

[2] สินค้าผลิตภัณฑ์ที่จะขายในสหภาพยุโรปจะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขจาก REACH ซึ่งกำหนดไม่ให้มีปริมาณสารเคมีเกินกำหนด (ทั้งสารประเภทเติมแต่งและสารปนเปื้อน) ในเสื้อผ้า เครื่องประดับ และรองเท้า

[3] เสื้อผ้านับพันรูปแบบ = “สินค้าถูกผลิตทั้งหมด 6,753 ชิ้นในหนึ่งวัน (Public Eye)” และจากแหล่งอ้างอิงเพิ่มเติมพบว่า บางครั้งผลิตสินค้ามากถึง 10,000 ชิ้นในหนึ่งวัน (the Guardian)

[4]งานรณรงค์ Detox My Fashion โดยกรีนพีซ สากล – ดู Dirty Laundry 2: Hung Out to Dry, กันยายน 2554, และ Dirty Laundry 3: Reloaded, มีนาคม 2555

[5] แหล่งข้อมูลจากอุตสาหกรรมระบุว่าสิ่งทอน้อยกว่า 1% – Business of Fashion/McKinsey (2021), State of Fashion 2021, หน้า 65; One garbage truck of textiles every second – Ellen McArthur Foundation (2017), A new textiles economy: Redesigning fashion’s future, หน้า 37

[6] Public Eye (2021), Toiling away for SHEIN; Zara (Inditex)

ติดต่อ

Viola Wohlgemuth, toxics and circular economy campaigner, Greenpeace Germany: +49 (0) 151 22 18 09 71, [email protected]

Anna Arbogast, press officer, Greenpeace Germany: +49 (0) 175 80 41 025, [email protected]

Greenpeace International Press Desk: +31 (0)20 718 2470 (available 24 hours), [email protected]