เชียงใหม่, 25 พฤศจิกายน 2565 –  กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กรีนพีซ ประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมจัดงานเทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ครั้งที่ 2 (Eat Healthy, Breathe Happily) สะท้อนปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือที่มีสาเหตุมาจากระบบอาหารอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ แลกเปลี่ยนมุมมองด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ส่งผลกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน

ชนกนันทน์ นันตะวัน หัวหน้ากลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า

“การชี้โทษไปยังเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ว่าเป็นผู้เผาและเป็นผู้ก่อมลพิษไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์อะไร เพราะต้นเหตุที่แท้จริงคือการบริโภคของเรา อุตสาหกรรมอาหาร และนโยบายการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวของรัฐบาลที่บีบบังคับให้เกษตรกรต้องใช้วิธีการเผาซ้ำ ๆ นี่คือวิฤตที่สำคัญที่เราต่างต้องช่วยกันแก้ไขและเร่งสร้างความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ผู้ที่เป็นต้นเหตุของการก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ สม-ดุล เชียงใหม่ เห็นว่าการสร้างความยุติธรรมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่นี้จึงเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนและทุกเครือข่ายมาร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่และระดับภูมิภาค” 

เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา กรีนพีซ ประเทศไทยได้เผยแพร่รายงาน “เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย”[1] เป็นรายงานศึกษาถึงแบบแผนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในรายงานพบว่าระหว่างปี 2545-2565 พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือตอนบนของไทยเพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ ซึ่งคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า และมีอัตราคงที่หลังจากปี 2550 แต่พบว่ามีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะรัฐฉาน เมียนมา และภาคเหนือของสปป.ลาว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมายาวนานเรื้อรัง แต่ยังไร้ภาระรับผิดจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์จากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในภูมิภาค

ปริศนา พรหมมา หัวหน้าแผนงานเสริมความเข้มแข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า 

“พืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวทุกตัวเมื่อปลูกซ้ำ ๆ บนพื้นที่เดิมเป็นเวลานาน ผลผลิตจะค่อย ๆ ลดลง สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น  การก้าวเข้าสู่วงจรของพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นง่าย แต่การก้าวออกจากวงจรนี้นั้นยากที่สุด เนื่องจากหนี้สินเกษตรกร ประกอบกับปัจจัยทางสภาพภูมิศาสตร์ และนโยบายของรัฐแบบรวมศูนย์ 

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า

“การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ตามนโยบายสนับสนุนแรงจูงใจของรัฐต้องแลกมาด้วยการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องสร้างกลไกทางกฎหมายและดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

ภายในงานเทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ในครั้งนี้ ยังมีนิทรรศการ “กระสอบพันธสัญญา” ที่สร้างสรรค์โดยกลุ่มศิลปิน Haze Boundary Lab และ สม-ดุล เชียงใหม่โดยใช้ถุงบรรจุเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาเรียงต่อกัน พร้อมเพนท์ข้อความต่าง ๆ เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับกระบวนการของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์จากข้าวโพดตลอดห่วงโซ่การผลิตในรูปแบบ “เกษตรพันธสัญญา”  โครงสร้างของนิทรรศการถูกห่อหุ้มโดยกระสอบที่มีรายละเอียด โลโก้สินค้า รูปสัตว์ และข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามกลไกของระบบทุนที่มีความต้องขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้ผลกำไรจากการขยายตัวธุรกิจ เกษตรกรต้องรับภาระการจัดการที่ดินหลังการเก็บเกี่ยวและภาระหนี้สิน ซึ่งระบบเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับตัวเราทั้งทางตรงและทางอ้อมในด้านการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์  “กระสอบพันธสัญญา” จึงพยายามตั้งคำถามถึงกลไกความสัมพันธ์ของโครงสร้างอำนาจที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้บริษัทกลุ่มทุนเหล่านั้นตระหนักและมีส่วนรับผิดชอบต่อผลกระทบของชีวิตเกษตรกรและปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

ทั้งนี้กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กรีนพีซ ประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ว่า “ราวสองทศวรรษที่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนต้องรับความเสี่ยงทางสุขภาพจากปัญหามลพิษทางอากาศ แต่กลับไร้การแก้ปัญหาอย่างจริงจังจากภาครัฐ อุตสาหกรรมผู้ได้รับผลประโยชน์เชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในห่วงโซ่อุปทานอาหารสัตว์ควรมีภาระรับผิด และถึงเวลาที่ภาครัฐจำเป็นต้องแสดงเจตนารมณ์และดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือตอนบนของไทย”

เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่สวนป่าในเมือง แม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 25 – 27 พฤศจิกายน 2565 ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมฟังเสวนาด้านสิ่งแวดล้อมประเด็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า และเกษตรพันธสัญญาที่เชื่อมโยงกับปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ นิทรรศการ “กระสอบพันธสัญญา” เข้าร่วมเวิร์คช็อปต่าง ๆ เช่น พิมพ์ผ้า ชงชา วาดรูป แต่งหน้า แลกเปลี่ยนเสื้อผ้า ร่วมฟังดนตรีสด และเลือกซื้อสินค้ายั่งยืนจากร้านค้าเกษตรท้องถิ่น

#ปฎิวัติระบบอาหาร

www.greenpeace.or.th

หมายเหตุ

[1] อ่านรายงานเติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรพันธสัญญาในเขตภาคเหนือของไทย ได้ที่ act.gp/3RQIqgL

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ กรีนพีซ ประเทศไทย โทร.081 929 5747

อีเมล [email protected]