ชาร์ม เอล-เชค สาธารณรัฐอียิปต์,  20 พฤศจิกายน 2565 – กรีนพีซยินดีต่อข้อตกลงในการประชุม COP27 ที่จะตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Finance Fund) ซึ่งจะเป็นกองทุนที่สำคัญในการสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ และย้ำเตือนว่ากองทุนดังกล่าวไม่ควรนำผลประโยชน์ด้านการเมืองมายุ่งเกี่ยว

เยบ ซาโน(Yeb Saño) ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ หัวหน้าคณะผู้แทนกรีนพีซที่เข้าร่วม COP27 กล่าวว่า

“ข้อตกลงในการจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายจะเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนประเด็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลแต่ละประเทศต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับกองทุนที่เกิดขึ้นใหม่นี้ด้วยการจ่ายเงินที่ยังคงค้างก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนที่สำคัญให้แก่กลุ่มประเทศและชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม”

“ที่ผ่านมาการเจรจาเพื่อจัดตั้งกองทุนนี้ถูกทำให้ล่าช้าจากความพยายามต่อรองโดยการเสนอแผนการรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศและคัดค้านการชดเชยความสูญเสียและเสียหาย แต่ในที่สุดกลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักก็ต้องยอมรับ เนื่องจากความพยายามเรียกร้องอย่างท่วมท้นจากเหล่านักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่เรียกร้องให้มีมาตรการการแก้ไขและรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เข้มข้นกว่าเดิม”

“บทเรียนสำคัญที่เราได้รับหลังจากประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นมาหลังการประชุมที่ชาร์ม เอล-เชค นั่นก็คือ หากเรา รวมพลังและส่งเสียงให้ดังมากพอ เราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกได้ ในวันนี้เสียงอันกึกก้องของเราก็มาจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากทั้งภาคประชาสังคม แกนนำเครือข่ายชุมชน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

“อย่างไรก็ตามหากจะกล่าวถึงรายละเอียดเชิงลึกของกองทุน แต่ละประเทศและอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ก่อมลพิษหลักและมีส่วนในการรับผิดชอบต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะต้องให้คำมั่นว่าจะเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนกองทุน นั่นหมายถึงเงินทุนที่จะต้องนำมาให้กองทุนจะไม่ได้เป็นแค่เพียงเงินชดเชยความสูญเสียและเสียหาย แต่จะต้องเป็นเงินที่นำมาสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการปรับตัวและสามารถรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มที่ 

กลุ่มประเทศร่ำรวยจะต้องสนับสนุนเงินจำนวนราวแสนล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี เพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดจากผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นพวกเขาจะต้องทำตามคำมั่นสัญญาที่ตนเองให้ไว้ในการจัดตั้งกองทุน และเพิ่มเงินสนับสนุนเป็นสองเท่าเพื่อรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

“ในขณะที่กลุ่มประเทศจำนวนมาก ทั้งจากประเทศทางแถบซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ร่วมกันสนับสนุนการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งจะสอดคล้องกับความตกลงปารีส แต่ที่การประชุม COP 27 ครั้งนี้กลับถูกละเลยประเด็นการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเจ้าภาพอย่างอียิปต์ที่เป็นประธานในการจัดการประชุม นอกจากนี้เราจะต้องทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีกลุ่มประเทศผู้ผลิตฟอสซิลและกลุ่มนักล้อบบี้ที่สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล สามารถเจรจาต่อรองสำเร็จเกิดขึ้นที่ชาร์ม เอล-เชค และสุดท้ายแล้วหากยังไม่มีการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดอย่างเร่งด่วน เงินจำนวนนี้ก็จะไม่สามารถชดเชยความเสียหายและความสูญเสียได้ครอบคลุมมากพอ ดังนั้นก็เป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่าหากเราต้องการจะจบปัญหานี้ให้ได้จริง เราจะต้องยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล”

“การต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศรวมทั้งการรณรงค์ประเด็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศไม่ใช่การเล่นเกมที่มีฝ่ายแพ้หรือชนะ แต่เป็นสถานการณ์ที่หากเราไม่ร่วมมือกันเราทุกคนจะพ่ายแพ้ สิ่งหนึ่งที่ควรจำให้ขึ้นใจคือเราไม่สามารถเล่นเกมต่อรองกับธรรมชาติ ธรรมชาติไม่เคยรอมชอมกับใคร”

“ชัยชนะของประชาชนในวันนี้ต่อประเด็นการชดเชยความสูญเสียและเสียหายจะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การต่อสู้เพื่อเปิดโปงกลุ่มคนที่พยายามกีดกันการต่อสู้เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ผลักดันนโยบายเพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรม สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราไปถึงจุดหมายของความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศได้จริง”


สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องการติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่ Greenpeace International Press Desk: [email protected], +31 (0) 20 718 2470 (available 24 hours)

สามารถดาวน์โหลดภาพจากการประชุม COP27 ได้ที่นี่