ชาร์ม เอล-เชค สาธารณรัฐอียิปต์,14 พฤศจิกายน 2565  – ขณะที่การประชุมเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกที่ COP27 ดำเนินมาเป็นสัปดาห์ที่สอง กรีนพีซยังยืนยันว่าความหวังที่จะกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศให้กลับคืนมาได้ ก็ต่อเมื่อโลกจะต้องละวางเรื่องผลประโยชน์ลงและให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

การประชุม COP27 ครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการตกลงตั้งกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) ให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อนำไปฟื้นฟู ปรับตัวรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และเปลี่ยนผ่านประเทศให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เร่งให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

เยบ ซาโน(Yeb Saño) ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ หัวหน้าคณะผู้แทนกรีนพีซที่เข้าร่วม COP27 กล่าวว่า: 

“ตอนนี้เสียงของผู้คนและโลกกำลังถูกกีดกัน พวกเขาถูกผลักให้ไปอยู่ในมุมเล็ก ๆ ของการประชุม COP27 ขณะที่ผู้ให้การสนับกลุ่มทุนและผู้ให้ความสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้รับการฉายแสงให้เป็นที่สนใจ และทั้ง ๆ ที่ COP ครั้งนี้ควรจะเป็น COP ที่พูดคุยปัญหาสภาพภูมิอากาศในแอฟริกาด้วยซ้ำ เพราะภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ดังนั้น เสียงจากผู้คนที่ได้รับผลกระทบต่างหากที่ควรได้รับความสนใจและทางออกในการแก้ไข ไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษที่พยายามฟอกเขียวตนเอง”

“หากต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศจริง ก็จะต้องหยุดให้แสงกับผู้ก่อมลพิษหลักเสีย และยื่นมือให้ความช่วยเหลือผู้คนจริง ๆ ยุติการลงทุนด้านการเงินเพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่หันมาให้ความสนับสนุนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนแทน อย่างไรก็ตามการผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ แบบนี้ถือเป็นการทำลายชีวิตผู้คน วิถีชีวิต ระบบนิเวศ และระบบเศรษฐกิจ”

“ประเด็นความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) กลายเป็นหนึ่งในวาระการประชุมหลังจากการเจรจาอันยาวนานที่ชาร์ม เอล-เชค และจะต้องมีผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพออกมาให้ได้ และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะต้องยืนยันความต้องการที่จะมีการก่อตั้งกองทุนดังกล่าว”

“ถึงเวลาที่จะต้องหยุดการใช้เพียงวาทศิลป์และลงมือแก้ไขในเชิงระบบ เพื่อเปลี่ยนการสนับสนุนด้านการเงินมหาศาลที่ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มาเป็นกองทุนในการต่อกรวิกฤตดังกล่าวและเปลี่ยนผ่านให้ประเทศยั่งยืนมากขึ้น เราจะเห็นได้จากการทุ่มเทสรรพกำลังและงบประมาณเพื่อจัดการกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในสองปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าจะไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าหากมีการรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบทั้งในเชิงนโยบายและการลงทุนด้านงบประมาณ เราก็จะผ่านวิกฤตมาได้”

กิวา นากัท ผู้อำนวยการกรีนพีซ ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) กล่าวว่า

“อนาคตที่ปลอดภัยและเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้หากเราฟังเสียงของประชาชนที่อยู่ในแนวหน้าในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเอาใจใส่ชนพื้นเมืองและภูมิปัญญาในการรักษาสิ่งแวดล้อมของพวกเขา ในการประชุมครั้งนี้ เหล่าผู้นำที่เดินทางมาจะต้องเดินผ่านบูทของกลุ่มบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเพิกเฉยต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศรวมถึงนักเจรจาอีกมากมาย และสิ่งที่กลุ่มผู้นำเหล่านี้ต้องทำคือการเดินเข้ามาหากลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เป็นกลุ่มคนที่มีส่วนในการก่อมลพิษน้อยที่สุดแต่กลับต้องเผชิญกับความสูญเสียมากที่สุด”

“ประเด็นที่จริงจังเช่นนี้ย่อมต้องการผู้นำที่จริงจัง ผู้นำที่เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่าง การบรรเทา การปรับตัว และความสูญเสียและเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผู้นำที่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมสกปรก กับการลงทุนเพื่อความเป็นธรรม เพราะเราไม่สามารถนำความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศหรืออนาคตของคนรุ่นหลัง มาเจรจาแลกเปลี่ยนเพื่อการค้าได้”

Mbong Akiy Fokwa Tsafack ตัวแทนจากกรีนพีซ แอฟริกา กล่าวว่า

“เราต้องยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล! และกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยรวมถึงผู้ก่อมลพิษหลักที่มีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุดจะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากผลกระทบต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในปัจจุบันและอนาคต”

“แอฟริกาจะไม่ยอมเป็นด่านหน้าในการรับมือกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้กับยุโรป ทั้งการเผชิญกับภัยแล้ง น้ำท่วมรุนแรงฉับพลัน พายุหมุนไซโคลนและคลื่นความร้อนที่ทำลายชีวิตผู้คนในแอฟริกา ประเด็นความสูญเสียและเสียหายจะต้องดำเนินการอย่างสอดคล้องกับการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นธรรม โดยต้องใช้ระบบกระจายศูนย์เพื่อให้ชาวแอฟริกันกว่า 600 ล้านคนที่ปัจจุบันยังไม่มีพลังงานไฟฟ้าใช้ ได้เข้าถึงพลังงานอย่างเป็นธรรม”

“การเข้ามาสำรวจก๊าซในภูมิภาคแอฟริกาจะถูกคัดค้านด้วยคามพยายามของประชาชนท้องถิ่นหลายร้อยล้านคน บัดนี้เราจะยุติมรดกจากการล่าอาณานิคมและสกัดการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในภูมิภาคหลังจากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมานานนับศตวรรษ”

“แผนพัฒนาแอฟริการะยะ 20 ปีด้วยพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ใช่สิ่งที่ชาวแอฟริกันต้องการ”

หมายเหตุ

รายละเอียดข้อเรียกร้องของกรีนพีซ ต่อการประชุม COP27

การวิเคราะห์ของกรีนพีซ สากล ต่อการเจรจาเกี่ยวกับประเด็นความสูญเสียและเสียหายในการประชุม COP27 อ้างอิงจากเอกสารถอดความจากตัวแทนภาคประชาสังคม

ติดต่อสัมภาษณ์คณะผู้แทนกรีนพีซอยู่ในอียิปต์ ได้ที่ Gaby Flores, [email protected]

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อGaby Flores or Greenpeace International Press Desk: [email protected], +31 (0) 20 718 2470 (available 24 hours)