ก่อนการประชุม COP27 จะเริ่มขึ้น รายงานที่จัดทำโดยห้องปฏิบัติการวิจัยของกรีนพีซระบุความจำเป็นในการลงมือจัดการอย่างเร่งด่วนอุณหภูมิที่สูงขึ้น การขาดแคลนน้ำ และความไม่มั่นคงทางอาหารของภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

เบรุต เลบานอน – 2 พฤศจิกายน 2565 : รายงาน ‘ชีวิตที่เสี่ยงภัย : ผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศใน 6 ประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ’ ของห้องปฏิบัติการวิจัยกรีนพีซที่มหาวิทยาลัย Exeter สหราชอาณาจักรระบุว่า ระบบนิเวศและผู้คนที่อาศัยอยู่ในอัลจีเรีย อียิปต์ เลบานอน โมรอคโค ตูนีเซีย และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังพบกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลัน

รายงานเผยให้เห็นถึงรายละเอียดของภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หรือ MENA (Middle East & North Africa) ว่ามีอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบสองเท่าจากค่าเฉลี่ยโลก ทั้งยังตกอยู่ในความเสี่ยงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง

รายงานฉบับนี้ประกอบด้วยภาพและสารคดีที่เล่าเรื่องราวของผู้คนและระบบนิเวศที่เป็นแนวหน้าเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พวกเขาร่วมกันสร้างขบวนการขับเคลื่อนที่แข็งแรงเพื่อเรียกร้องถึงความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA)

กรีนพีซตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศจากผู้นำประเทศต่างๆในเวที COP27 โดยเสนอให้จัดตั้งกองทุนทางการเงินเพื่อชดเชยความเสียหายแก่ชุมชนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การเรียกร้องนี้เกิดขึ้นเพื่อต่อยอดคำมั่นสัญญาเพื่อการปรับตัวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (adaptation and mitigation) อย่างไรก็ตามกรีนพีซต้องการให้เกิดกองทุนการเงินในรูปแบบของความช่วยเหลือ ไม่ใช่การเงินกู้เพื่อพัฒนาประเทศ

แคทเทอรีน มิลเลอร์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์แห่งห้องปฏิบัติการวิจัยกรีนพีซกล่าวว่า “หลายประเทศในภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับอากาศร้อนและแล้งกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลก อย่างไรก็ตามแต่ละปีอากาศมีความแปรปรวนมาก ภูมิภาคนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 0.4 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา โดยเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกเกือบ 2 เท่า”

ด็อกเตอร์ จิอร์จ ซิททิส นักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศ – Climate and Atmosphere Research Center (CARE-C) เสริมว่า “รายงานได้เผยให้เห็นถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด การประเมินแนวโน้มจากข้อมูลในอดีต และการคาดการณ์ถึงด้านสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่อระบบนิเวศและผู้คนทั่วภูมิภาคที่เผชิญอากาศร้อนสุดขั้ว การขาดแคลนน้ำ และความไม่มั่นคงทางอาหารได้กลายเป็นชีวิตประจำวันของพวกเขาไปแล้ว”

ด็อกเตอร์ มาฮา คาลิล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาคชีววิทยา มหาวิทยาลัยอเมริกาในกรุงไคโรกล่าวว่า “ระบบนิเวศบนบกและทะเลมีความสำคัญอย่างมาก สิ่งมีชีวิตบางชนิดสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้โดยการอพยพไปในบริเวณที่เหมาะต่อการดำรงชีวิตกว่า ขณะเดียวกันก็เป็นการยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร เช่น ปะการังแดงบางแห่งเริ่มไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ และอุณหภูมิน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้เกิดการฟอกขาวเป็นบริเวณกว้าง”

กิวา นากัท ผู้อำนวยการกรีนพีซตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) กล่าวว่า “ท่ามกลางชีวิตที่สูญเสีย บ้านเรือนถูกทำลาย พืชผลทางการเกษตรเหี่ยวเฉา การทำมาหากินทำได้ยากขึ้น มรดกทางวัฒนธรรมกำลังถูกคุกคาม แต่ผู้ก่อมลพิษหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหล่านี้กลับปฏิเสธที่จะชดเชยค่าเสียหายต่อชุมชนเปราะบางที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่อไป

“หากไม่มีข้อตกลงทางการเงิน ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือก็ยากที่จะฟื้นตัวจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนได้ นอกจากจำเป็นต้องมีกองทุนเพื่อกลุ่มคนเปราะบางแล้ว รัฐบาลในภูมิภาคนี้ต้องลงทุนในการพัฒนาทางเลือกเพื่อวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย

“เราต้องเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนเพื่อประชาธิปไตยทางพลังงาน เป็นเรื่องไร้เหตุผลสิ้นดีที่เราจะยังคงก้าวตามทางที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วขีดไว้มากว่า 300 ปีซึ่งส่งผลให้เกินภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศมากมายที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้”