ความคิดเห็นและความคาดหวังของกรีนพีซต่อการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ

ชาร์ม เอล ชีค, อียิปต์, 3 พฤศจิกายน 2565 – คำถามร้อนแรงสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 หรือ COP 27 ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้คือ รัฐบาลของกลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่านับตั้งแต่ในอดีตและร่ำรวยกว่า จะจ่ายค่าชดเชยความสูญเสียและความเสียหายจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศหรือไม่ ในช่วงเตรียมการประชุม COP 27 โค้งสุดท้าย กรีนพีซกล่าวว่า สามารถสร้างความคืบหน้าที่สำคัญในด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและการสนับสนุนกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในอดีต ปัจจุบันและอนาคตให้เกิดขึ้นได้ ทางออกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ความสมานฉันท์ และภาระรับผิดชอบ โดยคำมั่นสัญญาที่แท้จริงในด้านการเงินเพื่ออนาคตที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นธรรมสำหรับทุกคน

Farmers' Protest in Gerona, Philippines.
ภาพกลุ่มเกษตรกรกางป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ถึงผู้ก่อมลพิษหลัก : ถึงเวลาจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากความสูญเสียด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” © Basilio Sepe / Greenpeace

การประชุม COP27 จะบรรลุผลหากมีการทำข้อตกลงดังต่อไปนี้

  • มอบเงินทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหายให้กับกลุ่มประเทศและชุมชนที่เสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุดเพื่อจัดการกับความสูญเสียและความเสียหายจากหายนะภัยสภาพภูมิอากาศทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่ารัฐบาลของกลุ่มประเทศร่ำรวยดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ COP 26 ว่าต้องระดมเงินทุน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศยากจนในการปรับตัวและเพิ่มภูมิคุ้มกันผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มกองทุนเพื่อการปรับตัวเป็นสองเท่าภายในปี 2568
  • ทุกประเทศนำแนวทางการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างเป็นธรรมเพื่อปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงการยุติโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ทั้งหมด ตามคำแนะนำขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ
  • ทำให้ชัดเจนว่า การจำกัดอุณภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2643 เป็นเป้าหมายเดียวที่ยอมรับได้ภายใต้ความตกลงปารีสซึ่งสอดคล้องกับกำหนดการปลดระวางการผลิตและการใช้ถ่านหิน ก๊าซฟอสซิลและน้ำมันทั่วโลก .
  • ตระหนักถึงธรรมชาติที่มีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในฐานะสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ และในฐานะเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพรรณพืชและพันธุ์สัตว์ที่หลากหลาย การปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปลดระวางเชื้อเพลิงฟอสซิล การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและการตระหนักถึงสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น


บทสรุปเกี่ยวกับข้อเรียกร้องต่อการประชุม COP27 ของกรีนพีซสามารถดูได้ที่นี่

ก่อนการประชุม COP 27

เยบ ซาโน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหัวหน้าคณะผู้แทนกรีนพีซที่เข้าร่วมประชุม COP 27 กล่าวว่า

“ความรู้สึกปลอดภัยและได้รับความใส่ใจ คือหัวใจสำคัญของความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเราทุกคนบนโลกใบนี้ และนี่คือสิ่งที่ COP 27 จำเป็นต้องมี และสามารถเกิดขึ้นได้หากผู้นำประเทศเลือกความเป็นธรรม ภาระรับผิดชอบ และสนับสนุนการเงินสำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต นี่คือองค์ประกอบหลักสามประการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่เพียงแต่ในระหว่างการเจรจาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดำเนินการในภายหลังด้วย วิธีแก้ปัญหา และภูมิปัญญาต่าง ๆ จากชนพื้นเมือง ชุมชนแนวหน้า และเยาวชนมีอยู่มากมาย แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือเจตจำนงของรัฐบาลและบรรษัทที่ร่ำรวยและก่อมลพิษที่จะลงมือดำเนินการ แต่พวกเขาต้องได้รับการย้ำเตือน”

การเคลื่อนไหวรณรงค์ระดับโลกที่นำโดยชนพื้นเมือง และกลุ่มคนหนุ่มสาว จะขยายเพิ่มขึ้นต่อไป หากผู้นำโลกล้มเหลวอีกครั้ง ซึ่งก่อนการประชุม COP27 ที่จะถึงนี้ เราขอเรียกร้องให้ผู้นำลุกขึ้นมาสร้างความเชื่อมั่น และแผนงานที่เราต้องการ ใช้โอกาสในการทำงานร่วมกัน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนและโลก”

กิวา นากัท ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ กล่าวว่า

“อุทกภัยครั้งใหญ่ในไนจีเรียและปากีสถาน และความแห้งแล้งในเขตจะงอยแห่งแอฟริกา ย้ำเตือนว่าเหตุใดเราจึงจำเป็นต้องบรรลุข้อตกลงที่รับผิดชอบต่อความสูญเสียและความเสียหายที่ประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ ประเทศร่ำรวยและผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตต้องรับผิดชอบและชดใช้ให้กับชีวิตที่สูญเสียไป บ้านที่ถูกทำลาย พืชผลที่เสียหาย และการดำรงชีวิต

“COP27 คือจุดสนใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงชุดความคิดเพื่อโอบรับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเพื่อรักษาอนาคตที่ดีกว่าสำหรับผู้คนในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะจัดการกับความไม่เป็นธรรมในอดีต และสร้างระบบกองทุนเงินสนับสนุนด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ ซึ่งจะได้รับทุนสนับสนุนจากผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผู้ก่อมลพิษในอดีต กองทุนดังกล่าวจะชดเชยให้ชุมชนที่เปราะบางซึ่งได้รับความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทำให้พวกเขาสามารถตอบสนองต่อภัยพิบัติจากสภาพอากาศและฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่สามารถปรับตัวและปลอดภัย ซึ่งขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นธรรม”

เมลิทา สตีล ผู้อำนวยการ กรีนพีซ แอฟริกา กล่าวว่า

“COP27 เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับเสียงจากผู้คนจากทางซีกโลกใต้ที่พวกเขาจะส่งออกไปถึงผู้นำและนำไปตัดสินใจอย่างแท้จริง ตั้งแต่เกษตรกรที่ต่อสู้กับระบบอาหารที่พังทลาย และชุมชนที่ต่อสู้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปจนถึงชนเผ่าพื้นเมืองในท้องถิ่น และชาวประมงพื้นบ้านที่ต่อสู้กับธุรกิจขนาดใหญ่ ชาวแอฟริกันลุกขึ้นต่อต้านผู้ก่อมลพิษและผู้นำประเทศต่าง ๆ ใน COP 27 ต้องได้ยินเสียงของพวกเรา

รัฐบาลแอฟริกาเองต้องก้าวข้ามความต้องการเพียงแค่เงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศ และเปลี่ยนแนวทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่เป็นมรดกตกทอดของการล่าเมืองขึ้นเพื่อขูดรีดทรัพยากร แต่พวกเขาต้องเลือกพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยการขยายตัวของระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ซึ่งให้ความสำคัญกับการปกป้องธรรมชาติ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของชาวแอฟริกา”

หมายเหตุ

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ก่อนการประชุม COP 27 กรีนพีซ ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ “ชีวิตที่เสี่ยงภัย : ผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศใน 6 ประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ  ซึ่งสามารดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

คณะผู้แทนจากกรีนพีซจะเดินทางไปอียิปต์ในวันที่ 6 พฤศจิกายน และสมาชิกของคณะที่สามารถให้ความเห็นต่อ COP27 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Gaby Flores อีเมล [email protected]