ตาร์ลัก, ฟิลิปปินส์, 8 ตุลาคม 2565 – หลังเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นโนรูพัดผ่านฟิลิปปินส์ เกษตรกรในตาร์ลักรวมกลุ่มกันเพื่อประท้วงร่วมกับนักกิจกรรมจากเครือข่าย Rice Watch Action Network และ กรีนพีซ ฟิลิปปินส์ เรียกร้องการชดเชยค่าเสียหาย เนื่องจากผลผลิตที่เสียหายในช่วงก่อนการประชุม COP27

กลุ่มเกษตรกรร่วมกันกางป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ถึงผู้ก่อมลพิษหลัก : ถึงเวลาจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากความสูญเสียด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” บริเวณพื้นทำการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย  ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรยังเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นผู้ก่อมลพิษหลักต้องจ่ายค่าชดเชยทั้งในด้านการบริหารจัดการประเทศ สังคม และก่อตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ประเทศเหล่านี้ก่อขึ้น

โดยกลุ่มต้องการให้ผู้นำโลกแต่ละประเทศที่จะไปประชุม COP27 ที่ประเทศอียิปต์ในเดือนหน้า ยกประเด็นการจัดการกับความเสียหายให้เป็นขั้นตอนจำเป็นและเป็นความรับผิดชอบของแต่ละประเทศผู้ก่อมลพิษหลัก รวมถึงกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้ก่อมลพิษหลัก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โลกเกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ภาพกลุ่มเกษตรกรกางป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ถึงผู้ก่อมลพิษหลัก : ถึงเวลาจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากความสูญเสียด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” © Basilio Sepe / Greenpeace

คาทาลิโน อากานอน เกษตรกรจากกีโรนา ตาร์ลัก กล่าวว่า

“เหตุการณ์ไต้ฝุ่นครั้งล่าสุดทำให้ฉันหวาดกลัว เราไม่คิดว่าแรงลมจะสร้างความรุนแรงได้ขนาดนี้ นี่เป็นไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดเท่าที่ฉันเคยพบและทำให้เราไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ปกติแล้วซูเปอร์ไต้ฝุ่นจะไม่เกิดขึ้นกับพื้นที่นี้ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว แต่สิ่งต่าง ๆ ก็แย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งก็แน่ชัดแล้วว่าเป็นเพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

“ฉันลงทุนกับการเพาะปลูกครั้งนี้ไปประมาณแสนเปโซ (ราว 1,703 ดอลลาร์สหรัฐ) และในตอนนี้เมล็ดพันธุ์ที่ฉันเพาะปลูกไว้เสียหายเกือบหมดจนแทบไม่เหลือมูลค่าเพราะน้ำท่วมที่พัดพาเอาดินโคลนมาด้วย ตอนนี้เราพยายามเก็บเกี่ยวพืชผลที่ยังรอดจากภัยพายุ เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนในครอบครัวของฉันเป็นอย่างมาก”

ทั้งนี้ พื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นโนรูยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง [1]

เวอร์จิเนียร์ เบโนซา-ไลโลริน นักรณรงค์ด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ ฟิลิปปินส์ กล่าวว่า

“กลุ่มเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นยืนยันในสิทธิ์ของพวกเขาและต้องการความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ ผู้ก่อมลพิษหลักและกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยจะต้องให้ความสนับสนุนทั้งในด้านการจัดการนโยบาย สังคม และแหล่งทุนเพื่อชดเชยความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่พวกเขาก่อขึ้นหลังจากการปล่อยมลพิษอย่างต่อเนื่องมาเป็นสิบ ๆ ปี การให้คำมั่นสัญญาด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศยังหมายรวมถึงการสนับสนุนทางการเงินเพื่อปกป้องไม่ให้อันตรายเกิดขึ้น และต้องเปลี่ยนผ่านพลังงาน ยุติระบบเศรษฐกิจที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก”

“ขณะนี้ฟิลิปปินส์กำลังถูกวิกฤตสภาพภูมิอากาศรบกวนปะปนไปกับวิกฤตการณ์ทางสังคมหลายครั้ง และปัญหานี้จะต้องถูกแก้ที่ต้นเหตุ เราเรียกร้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์จัดการกับผู้ก่อมลพิษหลักให้รับผิดชอบในด้านความเสียหายที่เกิดขึ้นด้านสิทธิมนุษยชน จะต้องเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว และจะสร้างระบบที่ให้ชุมชนปรับตัวได้อย่างยั่งยืน และเพื่อที่จะให้แผนเหล่านี้ทำได้ กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยต้องจ่ายเงินเข้าสู่กองทุนส่วนกลางและต้องมุ่งมุ่นต่อคำมั่นสัญญามากขึ้น” [2] [3] 

อเมียล พาร์ดูโช โฆษกจากเครือข่าย Rice Watch Action Network กล่าวว่า

“ในความเป็นจริงคือ กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในโลกต้องแบกรับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ก่อมลพิษน้อยที่สุด ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม วิกฤตนี้จะกระทบการดำรงชีวิต  ที่ดิน และแหล่งอาหารของเรา เราสูญเสียผลผลิตทางอาหารมากขึ้นในแต่ละปี เพราะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น รวมถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีกด้วย”

“แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะรอดชีวิตจากพายุได้ แต่พื้นที่ทำการเกษตรของพวกเขาหรือพืชผลที่ควรจะต้องปลูกได้ตามฤดูกาลก็เสียหายเกือบทั้งหมด วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะทำให้แร่ธาตุในน้ำและดินที่เป็นทรัพยากรในการทำเกษตรกรรมไม่เสถียร รวมทั้งยังมีอีกหลายปัจจัยที่จำเป็นต่อการเก็บเกี่ยวพืชผล”

ไม่นานมานี้ฟิลิปปินส์กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศจากทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ [4]

อ้างอิง

[1] Typhoon Karding agricultural damage assessment continues to rise, now at P3.12B

[2] National Inquiry on Climate Change (NICC) Report, Commission on Human Rights of the Philippines. 2022

[3] Greenpeace International article on building resistant communities in the Philippines

[4] World Risk Report 2022


ติดต่อเรื่องการใช้ภาพและวิดีโอที่ Kat Eusebio-Santillan, Digital Campaigner

Greenpeace Philippines, [email protected], +63 9992296451

Media Contacts:

Johanna Fernandez, Media and Communications Manager, Greenpeace Philippines, [email protected], +63-920-9759844

Greenpeace International Press Desk: [email protected], +31 (0) 20 718 2470 (available 24 hours)