กรุงเทพฯ, 16 กันยายน 2565- กรีนพีซ ประเทศไทยเปิดตัวรายงาน “เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย”[1] ในงาน“อาเซียนร่วมใจ: ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร?” (ASEAN: One Vision, Shared Pollution) เนื่องในสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน(MAEW – Mekong-ASEAN Environmental Week) ที่ห้อง SEA Junction ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

รายงานศึกษาถึงแบบแผนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของ ไทย (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอนและพะเยา) ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2545-2565) โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมทุก 5 ปี (พ.ศ. 2545 2550 2555 2560 และ 2565) มาวิเคราะห์จำแนกการใช้ที่ดิน/สิ่งปกคลุมดิน [2]

ข้อค้นพบหลักของรายงาน 

  • ระหว่างปี 2545-2565 ภาคเหนือตอนบนของไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ (เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า) โดยปี 2550 พื้นที่ปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ขยายตัวแบบก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับปี 2545
  • พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยขยายตัวสูงสุดเป็น 2,502,464 ไร่ ในปี 2555
  • ช่วงเวลาที่พื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุดคือปี 2545-2555 คิดเป็นพื้นที่ 2,176,664 ไร่
  • หลังจากปี 2550 อัตราการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบน ของไทยค่อนข้างคงที่ การสูญเสียพื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน(ปี 2565) ประมาณ 9 ล้านไร่  นอกเหนือจากการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งต่อไปขยายไปยังประเทศ เพื่อนบ้านโดยเฉพาะรัฐฉาน(เมียนมา) และภาคเหนือของ สปป.ลาว แล้ว ยังมาจากการขยายตัวของพืช เศรษฐกิจอื่นๆ ที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการส่งออก (commodity-driven deforestation)

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อป้อนอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ตามนโยบายสนับสนุนของรัฐภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาและนโยบายสร้างแรงจูงใจอื่นๆ ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน และความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน คำถามคือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและ พัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 [3] ซึ่งกำหนดให้สํานักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทําทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและเปิดเผยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ โดยต้องจัดทําและ เผยแพร่ในระบบข้อมูลสารสนเทศรวมทั้งสื่ออื่นที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และต้องปรับปรุงระบบทะเบียนให้เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง(มาตรา 17) และกำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมและ พัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาสามารถกําหนดสิทธิ หน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญาให้ชัดเจนเพื่อป้องกันและเยียวยาผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมหรือสิ่งแวดล้อม(มาตรา 23)  นั้นจะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อระบุ ภาระรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้มากน้อยเพียงใด

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า

“พื้นที่ชุมชนและชนพื้นเมืองที่ถูกกดทับด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจนกระทั่งไร้สิทธิและที่ทำกิน มักกลายเป็นพื้นที่ที่พบการขยายตัวของการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงกว่าพื้นที่อื่น นโยบายที่ส่งเสริมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐนั้นยิ่งมาซ้ำเติมให้ผู้คนมีทางเลือกในการดำรงชีวิตตามวิถีน้อยลง และหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น หนี้สินและความยากจนมาพร้อมกับการถูกประทับตราว่าเป็นผู้เผาทำลายป่าสร้างฝุ่นควัน โดยไม่ถามถึงนโยบายรัฐที่ส่งเสริม แต่บริษัทอุตสาหกรรมที่ได้ผลประโยชน์กลับรอดพ้นจากการเป็นจำเลยสังคม ไม่จำเป็นต้องมีภาระรับผิดใด ๆ ส่งผลให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น”

แม้จะพบว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น มีการรับซื้อมากขึ้น หรือการขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ลักษณะของการทำเกษตรพันธสัญญาของไทยซึ่งส่วนมากอยู่ในรูปแบบสัญญาทางวาจาหรือลายลักษณ์อักษรอย่างไม่เป็นทางการ จึงไม่ปรากฎข้อมูลว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญามากน้อย เพียงใด ระบบข้อมูลของภาครัฐภายใต้ระบบประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นสามารถบ่งชี้ถึงจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ  แต่ยังไม่เชื่อมโยงถึงการรับซื้อของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ยักษ์ใหญ่

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า

“การขยายการลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ยักษ์ใหญ่ของไทยเพื่อผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเมียนมาเพื่อส่งกลับมายังไทย คือสาเหตุหนึ่งของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีบทบาทของธนาคารไทยคอยเกื้อหนุนการลงทุน นี่คือการก่อมลพิษในห่วงโซ่อุปทานที่เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐไทยและระดับอาเซียน” 

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ     กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวสรุปว่า

“สิ่งที่ยังขาดหายไปในกลไกทางกฎหมายและการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ไปสู่การปลูกข้าวโพดแบบอุตสาหกรรมของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ คือ ภาระรับผิดของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น และการได้ผลประโยชน์จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการประกอบธุรกิจ ถึงเวลาที่ภาครัฐจำเป็นต้องแสดงเจตนารมณ์และดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” 

#ปฎิวัติระบบอาหาร 

FB: Greenpeace Thailand 

www.greenpeace.or.th 

หมายเหตุ

[1] สามารถดาวน์โหลดรายงาน “เติบโตบนความสูญเสีย: ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย”ฉบับเต็มได้ที่ https://act.gp/NotSoAmazingMaize

[2] ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[3] http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/056/1.PDF 

[4] สามารถอ่านสรุปข้อค้นพบหลักได้ที่ https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2022/09/0472c3dd-briefer_not-so-amazing-maize_-mapping-20-years-of-maize-and-deforestation-in-thailand.pdf