ไทเป, 1 กันยายน 2022 – บัมเบิล บี (Bumble Bee) ผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ของสหรัฐฯ และ เอฟซีเอฟ (FCF) บริษัทแม่จากไต้หวันซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายปลาทูน่า อาจมีส่วนพัวผันกับการทำประมงผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน ตามรายงานสืบสวนฉบับใหม่ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก

รายงาน “Fake My Catch: The Unreliable Traceability in our Tuna Cans” พบว่าข้อมูลที่บริษัทผู้ผลิตทูน่าให้ไว้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของตนนั้นไม่ครบถ้วน และในบางกรณีไม่ถูกต้อง หลังจากที่รวบรวมข้อมูลจากทูน่ากระป๋องนับร้อยกระป๋องที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกและกรีนพีซ สหรัฐฯ ได้กรอกรหัสทูน่ากระป๋องทั้งหมด 73 ชุดเข้าไปในระบบ Trace My Catch (TMC) ของบัมเบิล บี ซึ่งจะแสดงผลให้ผู้บริโภครู้ว่าทูน่าที่อยู่ในกระป๋องถูกจับจากแหล่งไหน โดยใคร ระบบ [1] อย่างไรก็ตาม กรีนพีซได้นำข้อมูลดังกล่าว  มาตรวจสอบซ้ำกับข้อมูลจากสำนักการประมงไต้หวัน (Taiwan Fishery Agency – TFA) และองค์กรโกลบอล ฟิชชิง วอทช์ (Global Fishing Watch) ซึ่งมีระบบตรวจสอบการทำประมงทั่วโลกที่สามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระ

จากการตรวจสอบพบว่า:

  • เรือประมงมากกว่า 10 % จาก 119 ลำ ที่ถูกระบุว่ามีสัญชาติไต้หวันหรือมีเจ้าของเป็นชาวไต้หวัน มี 13 ลำ ที่พบว่าเคยอยู่ในบัญชีดำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (llegal, Unreported and Unregulated – IUU fishing) ของสำนักการประมงไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งที่จัดหาวัตถุดิบให้กับบัมเบิล บี 
  • พบตัวบ่งชี้การบังคับใช้แรงงานในรายงานของแรงงานประมง ซึ่งทำงานบนเรือ 6 ลำที่จัดหาวัตถุดิบให้กับบัมเบิล บี และ FCF  [2]
  • ปลาที่จับได้โดยเรือต้า หวัง (Da Wang) ที่เจ้าของเป็นชาวไต้หวัน พบมีลูกเรือเคยถูกดำเนินคดีว่ามีส่วนกับการบังคับใช้แรงงานและค้ามนุษย์  รวมถึงเคยถูกใช้เป็นวัตถุดิบให้กับบัมเบิล บี มาก่อน ก่อให้เกิดความกังวลว่าอาหารทะเลที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานบังคับนั้นได้วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ แล้ว นอกจากนั้น ยังมีแรงงานประมงข้ามชาติคนหนึ่งเสียชีวิตในขณะที่ทำงานบนเรือต้า หวัง ซึ่งมีรายงานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แรงงานประมงคนอื่น ๆ ออกจากงาน เนื่องจากทนต่อการทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงไม่ได้

มัลลิกา ทัลวาร์ (Mallika Talwar) ผู้ประสานงานอาวุโสโครงการทะเลและมหาสมนุทรของกรีนพีซ สหรัฐฯ กล่าวว่า:

“เราไม่แปลกใจถึงข้อมูลที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างสิ่งที่บัมเบิล บี บอกกับผู้บริโภคในสหรัฐฯ กับสิ่งที่ถูกเปิดเผยออกมาในการสืบสวนนี้ บัมเบิล บี อ้างว่าอยู่ข้างประชาชนและโลกใบนี้ แต่สิ่งที่เราเห็นในรายงานเป็นเพียงบริษัทที่หลักเลี่ยงความรับผิดชอบต่าง ๆ เพื่อทำกำไร สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตลาดอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสามารถใช้อิทธิพลที่มีอยู่อย่างมากเพื่อยุติการบังคับใช้แรงงานในทะเลได้ องค์กรต่าง ๆ ในเครือของกรีนพีซใช้เวลาหลายปีในการรวบรวมข้อมูลหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานของเอฟซีเอฟ เนื่องจากข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าสินค้าอาหารทะเลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวมีโอกาสสูงมากที่จะเข้ามาในตลาดสหรัฐฯ เราจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนปิดกั้นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาดังกล่าวของเอฟซีเอฟ นอกจากนั้น รัฐบาลไบเดนจะต้องปิดฉากยุคสมัยที่บริษัทและผู้ค้าอาหารทะเลของสหรัฐฯ ทำกำไรจากอาหารทะเลที่จับโดยแรงงานทาส” [3]

กรีนพีซ เอเชียตะวันออก (ไทเป) ยังได้สัมภาษณ์แรงงานประมงข้ามชาติ 27 คนและพบว่าทั้งหมดเคยประสบหรือพบเห็นสิ่งการกระทำ ที่เข้าข่ายการบังคับใช้แรงงาน ตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organistion – ILO) ได้ระบุไว้ อย่างน้อยหนึ่งข้อ 

ข้อมูลจากแรงงานประมง 9 คนที่ทำงานบนเรือ 6 ลำซึ่งจับปลาให้กับบัมเบิล บี และเอฟซีเอฟทั้งหมดรายงานตรงกันว่า ต้องทำงานล่วงเวลานานกว่าที่ตกลง  และเกือบทั้งหมดรายงานถึงการจ่ายค่าจ้างไม่ตรงเวลาและการยึดเอกสารประจำตัว ซึ่งในบางกรณีกัปตันเรือหรือนายหน้าจัดหาแรงงานใช้วิธีการนี้เพื่อสะกัดไม่ให้แรงงานประมงออกจากงานหรือยกเลิกสัญญาแต่เนิ่น ๆ

แรงงานประมงยังได้ให้รายละเอียดถึงสภาพการดำรงชีวิตและการทำงานที่โหดร้าย คุณ เจ. ที่ทำงานบนเรือจูบิลี (Jubilee) ซึ่งจดทะเบียนในไต้หวัน ได้เล่าถึงรายละเอียดไว้ดังนี้

“พวกเราทำงานอย่างน้อยวันละ 16 ชั่วโมง บางทีเราเริ่มงานตอนบ่ายโมง และเสร็จงานตอนตีห้าของอีกวัน”

ยูตอน ลี (Yuton Lee) ผู้ประสานงานโครงการทะเลและมหาสมุทรของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก (ไทเป) กล่าวว่า

“เอฟซีเอฟในฐานะของบริษํทแม่ของบัมเบิล บี ควรเลิกใช้อุปกรณ์ตรวจสอบที่ไม่น่าเชื่อถือมาบังหน้าและหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของตนเอง เอฟซีเอฟเน้นย้ำถึงความสำคัญและพันธกรณีต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน แต่ก็มีช้องว่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนระหว่างนโยบายของบริษัทและสิ่งที่เป็นจริง การสืบสวนนี้แสดงให้เห็นถึงอย่างชัดเจนวิธีการที่บริษัทอาหารทะเลฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากภาวะเปราะบางของแรงงานประมง และวิธีการที่อาหารทะเลซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาสสามารถเข้าสู่ตลาดการบริโภคทั่วโลก การใช้วัตถุดิบจากเรือประมงที่มีส่วนร่วมหรือต้องสงสัยว่าทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นทำให้ทั้งบัมเบิล บีและ เอฟซีเอฟแสดงออกอย่างชัดเจนที่สุดถึงการไม่ยอมรับความพยายามที่ผู้ประกอบกิจการประมงซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายทุ่มเทลงไปในการสร้างการประมงที่ยั่งยืนและมีคุณธรรม และทั้งสองบริษัทล้มเหลวในการปกป้องสิทธิของผู้ประกอบกิจการประมงในการเข้าถึงการแข่งขันที่ยุติธรรม ในฐานะของผู้จัดจำหน่ายปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดติดอันดับหนึ่งในสามของโลก เอฟซีเอฟมีส่วนรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงในการหยุดการหาประโยชน์เหล่านี้ เพื่อความสมบูรณ์ของมหาสมุทร เพื่อชีวิตของแรงงานประมงในทะเล และเพื่อตัวเลือกที่ปลอดภัยของผู้บริโภค”

ในส่วนของข้อเสนอแนะนั้น กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเรียกร้องให้บัมเบิล บีและ เอฟซีเอฟดำเนินการออกแถลงการขอโทษอย่างเป็นทางการต่อแรงงานประมงที่ถูกหาประโยชน์ ต่อผู้ค้ารายย่อย และต่อผู้บริโภค นำสินค้าที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม และการบังคับใช้แรงงงานออกจากตลาด เปิดเผยรายชื่อเรือประมงทั้งหมดที่จัดหาวัตถุดิบให้ และจัดตั้งคณะกรรมการสืบสวนอิสระสำหรับข้อบกพร่องต่าง ๆ ใน Trace My Catch

เอฟซีเอฟ บัมเบิล บี และเจ้าของเรือ 24 ลำที่มีความเชื่อมโยงกับไต้หวันได้รับการติตต่อเพื่อสอบถามความเห็น ไม่มีมีการตอบรับจาก เอฟซีเอฟ บัมเบิล บี และเจ้าของเรือเจ็ดลำ เจ้าของเรืออื่น ๆ กล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถยืนยันหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดได้ [4]

อ้างอิง

[1] The codes were taken from Bumble Bee cans sold in Arlington, Virginia; Washington, DC; Durham, North Carolina; Chicago, Illinois; and Columbia, Maryland.

รหัสทั้งหมดได้มาจากกระป๋องของบัมเบิล บีที่วางขายในอาร์ลิงตัน, เวอร์จิเนีย วอชิงตัน, ดีซี เดอแรม, นอร์ท แคโรไลนา ชิคาโก, อิลลินอยส์ และ โคลัมเบีย, แมรีแลนด์

[2] The six vessels are: De Chan No.116, Eagle, Jubilee, Ren Horng Chun No.168, Ren Horng Way No.368, Yi Man

เรือทั้งหกลำได้แก่ เต๋อ ชาน 116, อีเกิล, จูบิลี, เหริน ฮอง ชุน 168, เหริน ฮอง เวย์ 368, ยี่ มาน

[3] Organizations urge U.S. to block imports from Taiwanese seafood giant over forced labor concerns 

[4] The seven fishing vessels that did not reply to Greenpeace are Chun I No.217, Eagle, Jin Wen No.99, Jubilee, Man Chi Feng, Yi Feng No.816, Zhen Feng No.8. 

เรือประมงทั้งเจ็ดลำที่ไม่ได้ตอบคำถามของกรีนพีซได้แก่ ชุน อี 217, อีเกิล, จิน เหวิน 99, มาน ชี่ เฟิง, ยี่ เฟิง 816, เจิง เฟิง 8