เดลี, อินเดีย, 7 กันยายน 2565 – เนื่องในวันที่ 7 กันยายนของทุกปี สมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly-UNGA) กำหนดให้เป็นวันสากลเพื่ออากาศสะอาดสำหรับท้องฟ้าสดใส (the International Day of Clean Air for blue skies) กรีนพีซ อินเดีย ถือโอกาสนี้เผยแพร่รายงาน

“ความแตกต่างใต้ท้องฟ้าเดียวกัน: ความเหลื่อมล้ำจากมลพิษทางอากาศ” (Different Air Under One Sky: The Inequity Air Research) การศึกษาในรายงานฉบับนี้พบว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสุขภาพสากลที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกใบนี้ ข้อมูลใน 8 ประเทศจากการประเมิน พบความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของประชาชนและความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศที่เกิดกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง

มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของประชาชน รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอตัวอย่างของกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงจากมลพิษทางอากาศ ได้แก่เด็กทารก ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี และหญิงตั้งครรภ์ที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับมลพิษสูง หรือมีความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลด้านมลพิษทางอากาศเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ

ข้อค้นพบหลัก 

  • มากกว่าร้อยละ 99 ของประชากรในแต่ละประเทศที่ระบุไว้ในรายงาน ซึ่งคิดเป็นจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลก ได้รับฝุ่น PM2.5 สูงเกินกว่าค่าแนะนำด้านคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก
  • อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด โดยมีสัดส่วนผู้ที่ได้รับฝุ่น PM2.5 สูงกว่าค่าแนะนำด้านคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปีขององค์การอนามัยโลก กว่า 5 เท่า[1]
  • ในอินเดีย หญิงตั้งครรภ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด[2] 
  • ในไทย ประมาณร้อยละ 100 ของประชากรทั้งหมดในประเทศได้รับฝุ่น PM2.5 มากกว่า 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก เด็กทารกและผู้สูงอายุมีแนวโน้มอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงเกินกว่าค่าแนะนำด้านคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกถึง 5 เท่า[3]
  • ข้อมูลจากเกือบทุกประเทศที่ศึกษาในรายงานนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึงสถานีวัดคุณภาพอากาศภายในรัศมี  25 กิโลเมตร ซึ่งในอินเดีย ร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดในประเทศไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในระยะรัศมี 25 กิโลเมตรได้

อวินาช ชันชาล ผู้จัดการฝ่ายงานรณรงค์ กรีนพีซ อินเดีย กล่าวว่า

“จากการศึกษารายงานฉบับนี้ ทำให้เห็นว่าสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของอินเดียมีจำนวนน้อยจนน่าตกใจเมื่อพิจารณาจากขนาดของประเทศ การรายงานคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์คือขั้นตอนแรกของการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องดำเนินการจัดทำระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพทั่วทั้งประเทศ และเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะแบบเรียลไทล์ควบคู่ไปกับการแนะนำด้านสุขภาพ และมีระบบการแจ้งเตือน เช่น “การแจ้งเตือนสีแดง” สำหรับวันที่มีมลพิษทางอากาศสูง เพื่อให้ประชาชนสามารถปกป้องสุขภาพของตัวเองได้ และกำหนดมาตรการให้ผู้ที่ปล่อยมลพิษลดการปล่อยมลพิษเพื่อเป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม”  

เฉินหย่งเหริน  ผู้ประสานงานรณรงค์อาวุโส ฝ่ายงานรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศทั่วโลก กล่าวว่า

“การเข้าถึงข้อมูลด้านคุณภาพอากาศ และการเข้าถึงอากาศสะอาดคือปัญหาของความเหลื่อมล้ำ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าถึงข้อมูลด้านคุณภาพอากาศ ซึ่งทุกคนควรมีสิทธิได้เข้าถึงอากาศสะอาดและสิ่งแวดล้อมที่ดี  นโยบายของรัฐเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอากาศสะอาดถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญในการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน”

สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของภาครัฐในไทยยังมีน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดของประเทศ ประชาชนในบางจังหวัดไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศได้ในระยะรัศมี 25 กิโลเมตร มีประชากรเพียงร้อยละ 26.8 เท่านั้นที่พักอาศัยอยู่ในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร การรับรู้ข้อมูลด้านคุณภาพอากาศ ณ สถานที่และเวลาจริงจะช่วยให้ประชาชนสามารถปกป้องสุขภาพตัวเองได้ และหน่วยงานรัฐสามารถนำข้อมูลไปแก้ไขปัญหาด้านมลพิษทางอากาศได้ตรงจุดมากขึ้น 

อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า

“เพื่อให้การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของไทยมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม รัฐบาลต้องประกาศใช้กฎหมายควบคุมการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) และระบุให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในรายชื่อสารที่ภาคอุตสาหกรรมต้องรายงานข้อมูลการปล่อยสู่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และป้องกันสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 ได้”

หมายเหตุ

[1] ร้อยละ 95 ของประชากรทั้งหมดในอินเดียได้รับฝุ่น PM 2.5 ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าการได้รับฝุ่น PM2.5 ที่มีความเข้มข้นเกินกว่า 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็นระยะเวลานานมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน

[2] ในอินเดีย หญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 62 อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษมากที่สุดเมื่อเทียบกับร้อยละ 56 ของประชากรทั้งหมด

[3] ประมาณร้อยละ 100 ของเด็กทารกในไทยได้รับฝุ่น PM 2.5 ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย

อีเมล [email protected] โทร. +6681 929 5747

ฝ่ายข่าวกรีนพีซ สากล  อีเมล [email protected] โทร +31 (0) 20 718 2470 

(ตลอด 24 ชั่วโมง)

ดาวน์โหลดข้อค้นพบประเทศไทยเพิ่มเติม