23 สิงหาคม 2565, ไทเป – รายงานผลการศึกษาที่จัดทำโดยสำนักงานกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ในกรุงไทเป ของเกาะไต้หวัน แสดงให้เห็นการตรวจพบไมโครพลาสติกในอุจจาระของสัตว์คุ้มครองหลายชนิดในไต้หวัน รวมถึงหมีดำฟอร์มาซาน และกวางป่าไต้หวัน อีกทั้งยังมีการตรวจพบไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำที่รวบรวมจากถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์คุ้มครองเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าบรรดาสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองทั้งหลายมีการสัมผัสและกินไมโครพลาสติกเข้าไป แม้จะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของพวกมันเอง 

ถัง อัน (Tang An) นักรณรงค์ด้านพลาสติกประจำสำนักงานกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ในกรุงไทเป กล่าวว่า “เป็นการยากที่จะจินตนาการว่าห่วงโซ่อาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์คุ้มครองมีมลพิษร้ายแรงเพียงใด แม้แต่สัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและอาศัยอยู่ห่างจากกิจกรรมของมนุษย์หรือแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ก็ยังหนีไม่พ้น สิ่งนี้คือสัญญาณที่ปลุกให้เราตื่นขึ้นว่า เราควรเผชิญกับภัยคุกคามจากพลาสติกในเชิงรุกและจัดการกับวิกฤตดังกล่าวที่ต้นเหตุ การเก็บขยะที่มหาสมุทรและภูเขา หรือการรีไซเคิลที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหามลพิษขยะพลาสติก  ซึ่งปัญหาที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งอยู่ที่การผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมากในปัจจุบันของบรรดาบริษัทขนาดใหญ่โดยปราศจากการดำเนินการควบคุมจากภาครัฐ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทขนาดใหญ่ดำเนินการอย่างรวดเร็วและเร่งด่วนเพื่อจัดการกับวิกฤตพลาสติกในทันที”

สำนักงานกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ประจำกรุงไทเป ระบุว่า มีการพบไมโครพลาสติกในอุจจาระของหมีดำฟอร์โมซาน (Ursus thibetanus formosanus), กวางป่าไต้หวัน (Rusa unicolor swinhoii), นากใหญ่ธรรมดา(Lutra lutra), หมาไม้ (Martes flavigula) และแมวดาว (Prionailurus bengalensis) ซึ่งสัตว์ทุกสายพันธุ์ล้วนรวมอยู่ในบัญชีแดงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกของไต้หวัน (Red List of Terrestrial Mammals of Taiwan) ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ (endangered) และชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable species) นอกจากนี้ยังมีการพบไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำที่เก็บจากถิ่นที่อยู่อาศัยของหมีดำฟอร์โมซาน กวางป่าไต้หวัน นากใหญ่ธรรมดา และปลาแซลมอนน้ำกร่อยไต้หวัน (Oncorhynchus masou formosanus) รวมถึงตัวอย่างตัวอ่อนแมลงน้ำที่เป็นอาหารหลักสำหรับปลาแซลมอนน้ำกร่อยไต้หวันด้วย (Oncorhynchus masou formosanus)

ทั้งนี้ เหล่านักวิจัยได้เก็บตัวอย่างอุจจาระทั้งหมด 112 ตัวอย่างจากสัตว์ทั้ง 5 ชนิด ซึ่งจากตัวอย่างเหล่านี้ พบไมโครพลาสติกจำนวน 604 ชิ้น ที่ระดับความเข้มข้นสูงกว่ามูลโคที่เลี้ยงไว้ตามบ้านตามที่บันทึกไว้ในการศึกษาบางฉบับ โดยอนุภาคแบบสะเก็ด (fragments) พบได้บ่อยที่สุด (44.6%) รองลงมาคืออนุภาคแบบทรงกลม (40.0%) และ อนุภาคแบบเส้นใย (14.4%) ตามลำดับ โดยไมโครพลาสติกมีขนาดตั้งแต่ 10.0 ไมโครเมตร ถึง 1,333.3 ไมโครเมตร [1] ขณะเดียวกัน มีการระบุชิ้นส่วนไมโครพลาสติกทั้งหมด 1,323 ชิ้นในตัวอย่างน้ำ โดยอนุภาคแบบทรงกลมเป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด (46.6%) ตามด้วยอนุภาคแบบสะเก็ด (42.4%) และอนุภาคเส้นใย (11.0%) โดยไมโครพลาสติกมีขนาดตั้งแต่ 10.0 ไมโครเมตร ถึง 1,431.7 ไมโครเมตร [2] การทดสอบยังเผยให้เห็นว่า พบไมโครพลาสติกในแหล่งที่อยู่อาศัยและอาหารของปลาแซลมอนน้ำกร่อยไต้หวัน

บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างออกโรงเตือนว่า ปัญหาของไมโครพลาสติกได้สร้างความหายนะให้กับธรรมชาติเรียบร้อยแล้วและจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น พลาสติกถือเป็นภัยคุกคามไม่เพียงต่อระบบนิเวศทางทะเลและสิ่งมีชีวิตนานาชนิดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศน้ำจืดด้วย อีกทั้ง ไมโครพลาสติกยังคงทนอยู่ได้เป็นเวลานาน และเมื่อหลุดออกไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแล้ว จะไม่สามารถกำจัดออกไปได้ แถมยังสามารถเป็นพาหะที่แพร่กระจายสารพิษ และมีปฎิกิริยากับระบบนิเวศทั้งหมด ขัดขวางการเจริญเติบโตและระบบการสืบพันธุ์ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ผ่านห่วงโซ่อาหารของพวกมัน

เคท เมลเกส (Kate Melges) หัวหน้าฝ่ายพลาสติกระดับสากลของกรีนพีซ สหรัฐฯ กล่าวว่า “ผลการศึกษาล่าสุดนี้ได้แสดงให้เห็นว่ามลพิษขยะพลาสติกแพร่กระจายไปมากเพียงใด ตั้งแต่มหาสมุทรไปจนถึงน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกของเรา และตอนนี้ แม้แต่บนบกก็มาถึงแล้ว ดังนั้น บริษัททั้งหลายโดยเฉพาะบริษัทที่ก่อมลพิษพลาสติกรายใหญ่ที่สุด อย่าง โคคา-โคลา (Coca-Cola), เป็ปซี่โค (PepsiCo),เนสท์เล่ (Nestlé) และ ยูนิลีเวอร์ (Unilever) ต้องยุติการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งและเร่งลงทุนในส่วนของบรรจุภัณฑ์แบบเติม (refill) และบรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำ (reuse) ขณะที่ภาครัฐก็ต้องทำให้บริษัทเหล่านั้นแสดงความรับผิดชอบด้วยการนำสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastics Treaty) ซึ่งมีผลผูกพันตามกฎหมาย ที่จัดการกับวงจรชีวิตพลาสติกอย่างเต็มรูปแบบมาบังคับใช้ รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของขีดจำกัดการผลิต การลดขั้นตอนการผลิตพลาสติก และยุติการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง”

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ:

บทคัดย่อฉบับภาษาอังกฤษ คลิกที่นี่

รายงานฉบับเต็มคลิกที่นี่ (ภาษาอังกฤษ)

[1] จากจำนวนสัตว์คุ้มครองทั้ง 5 สายพันธุ์ที่ได้ดำเนินการตรวจสอบ อุจจาระของหมาไม้ (yellow-throated martens) มีปริมาณไมโครพลาสติกเข้มข้นที่สุด (18.65 ชิ้น/กรัม*) รองลงมาคือนากใหญ่ธรรมดา (Kinmen Eurasian otters) (2.72 ตัว/กรัม) แมวดาว (1.64 ตัว/ กรัม) และหมีดำฟอร์โมซาน (1.13 ตัว/กรัม) โดยมีกวางป่าไต้หวัน (Formosan sambar deers) มีปริมาณไมโครพลาสติกที่ระดับความเข้มข้นต่ำสุด (0.09 ตัว/กรัม)
*น้ำหนักแห้งของอุจจาระตัวอย่าง

[2] จากตัวอย่างน้ำที่เก็บจากแหล่งที่อยู่อาศัยทั้ง 5 แห่ง พบว่าตัวอย่างจากเกาะจินเหมินมีความเข้มข้นของไมโครพลาสติกสูงสุด (32.11 ชิ้น/ลิตร) รองลงมาคืออู่หลิง (26.11 ชิ้น/ลิตร) ทะเลสาบเจียหมิง (20.14 ชิ้น/ลิตร) , เขาลู่หลิง (17.00 ชิ้น/ลิตร) โดยมี เมืองชายฝั่งต้าเฟิง รั้งอับดับท้าย (5.78 ชิ้น/ลิตร)

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:

Moffy Chen, Greenpeace East Asia Communications Manager, +886987060898, [email protected]

Tang An, Greenpeace East Asia Campaigner, +886937966188, [email protected]

Angelica Carballo Pago, Greenpeace USA Plastics Global Media Lead, +639498891332, [email protected]