30 มิถุนายน 2565 – ลิสบอน โปรตุเกส – นักกิจกรรมกรีนพีซสากลพยายามวางป้ายรณรงค์ขนาดใหญ่บริเวณหน้าอัลติสอารีนา ในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของโลก โดยป้ายดังกล่าวแสดงภาพฉลามกำลังถูกฆ่าเพราะความเฉยเมยต่อการปกป้องมหาสมุทร พร้อมข้อความ “Strong Ocean Treaty now”  เพื่อสื่อสารถึงผู้นำจากนานาประเทศที่มารวมตัวประชุมให้ “ลงมือทำ” มากกว่าแค่มา “นั่งคุยกัน” อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมถูกสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ พวกเขาจึงกางแบนเนอร์ที่หน้าลานอัลติสอารีนา สถานที่จัดการประชุมแทน 

ลอร่า เมลเลอร์ ผู้ประสานงานรณรงค์ปกป้องมหาสมุทรของกรีนพีซกล่าวว่า “ผู้นำจากประเทศต่างๆ ไม่รักษาสัจจะที่จะปกป้องมหาสมุทร ขณะที่พวกเขาใช้คำพูดสวยหรูเกี่ยวกับการปกป้องทะเลในที่ประชุมนี้ ฉลามหลายล้านตัวถูกฆ่าทุกๆปีโดยเรือประมงจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป”

“เวอร์จินิจัส ซินเควิเชียส (Virginijus Sinkevicius)  คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อมได้ให้คำสัญญาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าสนธิสัญญาทะเลหลวงจะเกิดขึ้นแน่นอน และมันจะช่วยปกป้องมหาสมุทร 30% จากทั่วโลกก่อนปี พ.ศ. 2573  หรือแม้แต่อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ก็เคยพูดว่ามหาสมุทรกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤต สนธิสัญญาทะเลหลวงจึงต้องได้ข้อสรุปก่อนเดือนสิงหาคม พวกเราไม่ต้องการให้มีการพูดคุยว่าเราจะปกป้องมหาสมุทรอย่างไร สิ่งที่พวกเราต้องการคือการเริ่มปกป้องมหาสมุทร”

เมื่อรัฐบาลต่างๆ ไม่เริ่มปกป้องมหาสมุทรเสียที  ก็ทำให้ความหลากหลายทางระบบนิเวศหายไปและทำให้ชีวิตของคนจำนวนมากต้องอยู่ในความเสี่ยง ประชากรฉลามซึ่งเป็นนักล่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศมหาสมุทร ก็ลดลงกว่า 70% ทั่วโลก ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จำนวนฉลามที่ติดเครื่องมือประมงจากสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าระหว่างปี 2545 – 2557 โดยกว่า 13 ล้านตัวถูกฆ่าโดยเรือประมงจากสหภาพยุโรประหว่างปี 2543 – 2555 

การประชุมที่ลิสบอนถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญก่อนที่จะมีการสรุปสนธิสัญญาทะเลหลวงในเดือนสิงหาคม โดยรัฐบาลจาก 49 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึง 27 ประเทศจากสหภาพยุโรปได้ยืนยันที่จะเข้าร่วมการประชุมนี้

หากยังไม่มีสนธิสัญญาทะเลหลวงเกิดขึ้นในปีนี้ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะปกป้องพื้นที่ 30% ของมหาสมุทรภายในปี 2573 ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุดที่เราจะทำให้มหาสมุทรฟื้นฟูตัวเองได้จากการการคุกคามของมนุษย์ที่ดำเนินมาหลายร้อยปี โดยปัจจุบันเพียง 3% ของพื้นที่มหาสมุทรเท่านั้นที่ได้รับการปกป้อง 

ติดต่อ: 

Lisbon: Julia Zanolli, Global Communications Lead – [email protected] / +44 7971 769 107

Remote: James Hanson, Global Media Lead – [email protected] / +44 7801 212 994

Greenpeace International Press Desk, [email protected], +31 20 718 2470 (24 hours) 


ภาพและวิดีโอ  > คลิก